CIMjournal
banner ไวรัส 2

สถานการณ์การระบาดโควิด-19 และการวินิจฉัยในปัจจุบัน


นพ. ฐิติวัฒน์ ช่างประดับพ.อ. นพ. ฐิติวัฒน์ ช่างประดับ
แผนกโรคติดเชื้อ กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


สรุปเนื้อหาจากงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 46 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
วันที่ 10 ตุลาคม 2563

 

ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โลกของเราประสบปัญหาการระบาดของโรคอุบัติใหม่ คือ การระบาดของไวรัส SARS-CoV2 ที่ระบาดไปทั่วโลกปัญหาการระบาดนั้นนอกจากจะมีผลโดยตรงของสุขภาพประชากรโลกแล้วยังทำลายระบบเศรษฐกิจทั่วโลกไปด้วย ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และการวินิจฉัยโรค COVID-19


สถานการณ์การระบาด

ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการรายงานการระบาดของโรคปอดอักเสบที่ยังไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่งในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เทศบาลเมืองอู่ฮั่นร่วมกับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รายงานไปยังองค์การอนามัยโรคว่า โรคปอดอักเสบที่เกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่นนั้น ยังไม่ทราบว่าเกิดจากเชื้อชนิดใด แต่จากการทดสอบเบื้องต้นไม่พบเชื้อที่เป็นสาเหตุอันได้แก่ inflenza, avian inflenza, adenovirus, severe acute respiratory syndrome coronavirus (SARS-CoV), and Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV)

จนกระทั่งในวันที่ 7 ม.ค. 2563 สามารถยืนยันเชื้อก่อโรคได้ว่าเป็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ขณะนั้นเรียกกันว่า novel corovnavirus 2019 (2019-nCoV)

ในวันที่ 13 ม.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุขไทย แถลงข่าวพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เป็นรายแรกของโลกที่พบนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทย หลังจากนั้นในประเทศไทยก็พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ช่วงแรกนั้นเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน จนกระทั่ง 31 ม.ค. 2563 พบผู้ป่วยคนไทยคนแรกที่ติดเชื้อ coronavirus สายพันธุ์ใหม่ มีอาชีพขับรถแท็กซี่ โดยที่มีประวัติรับผู้ป่วยชาวจีนไปส่ง รพ.

วันที่ 11 ก.พ. 2563 องค์การอนามัยโลกประกาศการกำหนดชื่อโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ให้เรียกว่า โรค COVID-19 ซึ่งย่อมาจาก “coronavirus disease 2019” หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

และในวันเดียวกันนี้ ทางคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอนุกรมวิธานของไวรัส (International Committee on Taxonomy of Viruses, ICTV) ได้ตั้งชื่อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ว่าเป็น SARS-CoV 2 เนื่องจากพบว่า ลำดับจีโนมของเชื้อมีความคล้ายคลึงกับ SARS-CoV ถึงร้อยละ 79.5

ในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 เริ่มมีผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว และกลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าช่วงแรกของการระบาดนั้นเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีการระบาดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ

ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 สถานการณ์การระบาดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการติดต่อจากคนไทยที่ไม่มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศและไม่ได้ใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ ซึ่งมีการระบาดที่สำคัญคือ การระบาดในสถานบันเทิงกลางคืนใน กทม. และการระบาดในสนามมวย

ตามมาตรการของทางรัฐบาลที่ประกาศให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันก่อนจะกลับภูมิลำเนาได้ในห้วงตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 เป็นต้นมา พบว่า ผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศรายสุดท้ายพบในวันที่ 25 พ.ค. 2563 หลังจากวันดังกล่าวผู้ป่วยติดเชื้อที่พบล้วนมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยพบจากการตรวจหาเชื้อผู้กักตนในสถานกักกันที่รัฐกำหนด (state quarantine, SQ) และ alternative state quarantine (ASQ) ดังนั้น ไม่ว่าการระบาดทั่วโลกที่ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากมาตรการการกักตัวใน SQ ยังคงอยู่ ประเทศไทยยังคงจะสามารถป้องกันการระบาดระลอกสองได้

แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ หลังจากที่อินเดียและบังกลาเทศระบาดในเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา การระบาดได้แพร่กระจายสู่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) โดยที่การระบาดในพม่านั้นเริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เขียนบทความนี้ พม่ามีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นประมาณสองหมื่นแปดพันคน มีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง กล่าวคือในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มมากถึงวันละพันกว่าคน และโดยภูมิประเทศที่ติดต่อกับประเทศไทย จะเห็นได้ว่าพรมแดนของพม่านั้นติดต่อกับประเทศไทยเป็นแนวยาวกว่าพันกิโลเมตร ดังนั้นหากทางราชการไม่เข้มงวดอาจพบการลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทยและนำมาสู่การระบาดระลอกสองได้


การตรวจหาเชื้อ
SARS-CoV2

ในการตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV2 นั้นในปัจจุบันมาตรฐานคือ การเก็บสิ่งส่งตรวจจากหลังโพรงจมูกและคอ ส่งตรวจหาเชื้อด้วยวิธี polymerase chain rection (PCR) ซึ่งมีการพัฒนามาตั้งแต่การระบาดในช่วงแรกจนถึงปัจจุบัน กระบวนการ PCR นั้นมีตำแหน่งยีนส์ที่ตรวจหลายตำแหน่ง มีความจำเพาะแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นวิธีการมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยในปัจจุบัน

สำหรับการหาตัวเชื้อโดยวิธีอื่น ๆ อาจทำได้ เช่น การทำ whole genome sequencing (WGS) เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของเชื้อ ซึ่งใช้ระยะเวลามากกว่าการทำ PCR มาก แต่มีประโยชน์ในแง่การระบาดสามารถรู้ได้ว่าสายตระกูล (clade) ของเชื้อที่ติดมานั้นได้รับมาจากภูมิภาคไหน

การเพาะเชื้อไวรัส (viral culture) เป็นการเพาะเลี้ยงไวรัสในเซลล์ที่ห้องปฏิบัติการเตรียมไว้ วิธีนี้สามารถยืนยันความมีชีวิตของเชื้อ และความสามารถในการแพร่กระจายได้ แต่ห้องปฏิบัติการในประเทศไทย ที่เพาะเลี้ยงได้มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกมารับรองการตรวจหาไวรัส SARS-CoV2 ด้วยวิธี rapid antigen detection ซึ่งวิธีนี้ใช้การเก็บสิ่งส่งตรวจจากหลังโพรงจมูกและคอ ป้ายลงบนแผ่นตรวจ หยดน้ำยาลงไป รอเวลา 15 นาที จะปรากฏแถบแสดงขึ้นบนแผ่นทดสอบ โดยที่มีการทดสอบมาตรฐานพบว่ามีความไว ร้อยละ 97.1 และความจำเพาะร้อยละ 98.5 ในอนาคตอันใกล้อาจจะนำมาใช้ทดแทนการตรวจด้วย PCR เนื่องจากลดระยะเวลาลงมากและสามารถทำได้อย่างกว้างขวาง

สำหรับการตรวจหาภูมิต้านทานนั้น ดูเหมือนว่าการทดสอบจะง่ายมากกว่าการตรวจหาเชื้อโดยตรง แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ การตอบสนองของผู้ติดเชื้อในแต่ละรายไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน สำหรับความจำเพาะของ antigen ที่นำมาใช้ในชุดตรวจ และการให้ผลบวกลวง ยังเป็นข้อที่ถกเถียงกันเป็นอันมาก สุดท้ายคือ ระยะเวลาที่ภูมิต้านทานจะขึ้นจนสามารถตรวจได้นั้นใช้ระยะเวลาเป็นสัปดาห์หลังจากแสดงอาการ ดังนั้น ประโยชน์ที่ใช้ภูมิต้านทานเพื่อจะควบคุมการระบาดจึงค่อนข้างจะน้อยกว่าประโยชน์ในการศึกษาภาพรวมหลังการระบาด

โดยสรุปในปัจจุบันการตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ SARS-CoV2 นั้นยังคงใช้การทำ PCR เป็นหลัก แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาหลายชั่วโมงในการทำ ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นหลักพันบาทต่อการทดสอบครั้งหนึ่งก็ตาม ในอนาคตอาจจะมีการทดสอบที่สะดวก แม่นยำและราคาถูกลงมาใช้ คงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก