ศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นพ. จักรพันธุ์ ศิริบริรักษ์
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ ในรายที่มีอาการมักไม่รุนแรง ได้แก่ ไข้ ผื่น ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และตาแดง อาการดังกล่าวพบได้หลายวันจนถึงเป็นสัปดาห์ และมักดีขึ้นได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษาการติดเชื้อไวรัสซิกาขณะตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุของความพิการแต่กำเนิดของทารกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพิการทางสมอง อีกทั้งยังพบความผิดปกติทางตาแต่กำเนิด หรือพบความปกติในระบบอื่น ๆ ที่เป็นผลตามมาจากความผิดปกติทางระบบประสาท1 (ตารางที่ 1)
การถ่ายทอดของเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่ผ่านทางยุงลาย (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค แต่อย่างไรก็ตาม เชื้อดังกล่าวสามารถติดทางเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยได้ ความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อไวรัสซิกาทางเพศสัมพันธ์ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยรายงานส่วนใหญ่มักเป็นการติดเชื้อจากคู่นอน ที่มีอาการของการติดเชื้อไวรัสซิกา
ในคนที่ติดเชื้อไวรัสซิกาสามารถตรวจพบ Zika virus RNA ในเลือดได้โดยเฉลี่ย 14 วัน และอาจพบได้นานถึง 54 วัน หลังจากเริ่มมีอาการของการติดเชื้อ2 ส่วนในหญิงตั้งครรภ์สามารถตรวจพบ Zika virus RNA ในเลือดได้จนถึง 10 สัปดาห์ หลังจากเริ่มมีอาการของการติดเชื้อ ส่วนในน้ำอสุจิสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสซิกาได้เฉลี่ย 34 วัน และมีรายงานว่าพบเชื้อในน้ำอสุจิได้นานสุดถึง 188 วัน หลังจากที่เริ่มมีอาการ3
ช่วงระยะเวลาข้างต้นที่สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือด และในน้ำอสุจิ จึงเป็นที่มาของแนวทางปฏิบัติในการคุมกำเนิด และการป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกาผ่านทางเพศสัมพันธ์ ตามคำแนะนำของ U.S. CDC ปี ค.ศ. 20164 ได้แก่
1. คู่สมรสที่วางแผนที่จะมีบุตร และไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา
บุคลากรทางการแพทย์ควรแนะนำคู่สมรส ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา สำหรับหญิงที่มีความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อไวรัสซิกา (เช่น เดินทางไปแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน) ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 8 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการที่สงสัยการติดเชื้อไวรัส หรือหลังจากที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อครั้งสุดท้าย ส่วนชายที่มีความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อไวรัสซิกา ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากที่มีอาการที่สงสัยการติดเชื้อไวรัส หรือหลังจากที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อครั้งสุดท้าย
คำแนะนำดังกล่าวอ้างอิงจากการที่มีหลักฐาน ว่าสามารถตรวจพบ Zika virus RNA ในน้ำอสุจิได้นานถึง 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการตรวจพบ RNA ของเชื้อไวรัสบ่งบอกถึงความสามารถในการแพร่เชื้อได้ คำแนะนำถึงระยะเวลาในการคุมกำเนิด อาจพิจารณาปรับตามความเหมาะสมในแต่ละรายได้ (เช่น ขึ้นกับอายุของคู่สมรส ภาวะเจริญพันธุ์ หรือรายละเอียดของความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัส)
2. คู่สมรสที่วางแผนจะมีบุตร และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งคู่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา
ชายและหญิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระบาดของเชื้อ และมีอาการผิดปกติที่เข้าได้กับการติดเชื้อไวรัสซิกา ควรได้รับการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสซิกา ชายที่ผลตรวจยืนยันการติดเชื้อควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากที่มีอาการ หญิงที่ผลเลือดยืนยันการติดเชื้อควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 8 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ ในกรณีที่มีอาการของการติดเชื้อไวรัสซิกาแต่ผลตรวจไม่พบเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ถึงแผนการคุมกำเนิด โดยเฉพาะในกรณีที่ยังอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของเชื้อ
ตารางที่ 1 แสดงความพิการแต่กำเนิดของทารกที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิกา (ดัดแปลงจากเอกสารอ้างอิงหมายเลข 1)
คู่สมรสที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของเชื้อ ควรได้รับคำแนะนำถึงความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปยังทารกในครรภ์ และความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับทารกได้ สำหรับคู่ที่ตัดสินใจจะมีบุตร ควรมีมาตรการสำหรับการป้องกันยุงกัดทั้งก่อนตั้งครรภ์ และตลอดการตั้งครรภ์ ส่วนคู่สมรสที่ตัดสินใจจะยังไม่มีบุตร ควรได้รับคำแนะนำสำหรับวิธีการคุมกำเนิด และสถานที่ที่สามารถไปรับบริการการคุมกำเนิดได้
3. คู่สมรสที่วางแผนที่จะมีบุตรโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
ยังไม่พบรายงานการติดเชื้อไวรัสซิกา ผ่านทางการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อยังเป็นไปได้ทางทฤษฎี จึงมีคำแนะนำสำหรับคู่สมรสที่วางแผนจะมีบุตร โดยใช้เทคโนโลยีช่วงการเจริญพันธุ์ให้ทำตามคำแนะนำในข้อ 1 และ 2 ข้างต้น
4. คู่สมรสที่ยังไม่วางแผนที่จะมีบุตรในระยะอันใกล้
คู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสซิกา ควรมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ หรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 เดือนในเพศชาย และ 8 สัปดาห์ในเพศหญิง โดยนับจากที่มีอาการที่สงสัยการติดเชื้อไวรัส หรือหลังจากที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อครั้งสุดท้าย เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกาผ่านทางเพศสัมพันธ์ไปยังอีกฝ่าย ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ควรให้คำปรึกษาถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมด้วย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยที่ไม่ตั้งใจ
5. สำหรับหญิงตั้งครรภ์และสามี
หญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา ควรได้รับคำแนะนำไม่ให้เดินทางไปยังบริเวณที่มีการระบาดของโรค กรณีที่ฝ่ายชายอาศัยอยู่ หรือเดินทางไปบริเวณที่มีการระบาดของโรค ควรแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ตลอดระยะของการตั้งครรภ์
แผนภูมิที่ 1 แสดงแนวทางการตรวจเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสซิกา (ดัดแปลงจากเอกสารอ้างอิงหมายเลข 5)
กรณีหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งจากการที่เดินทางไปบริเวณที่มีการระบาดของโรค หรือจากการที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่สมรสที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ ควรได้รับคำแนะนำให้ตรวจหาเชื้อไวรัส (แผนภูมิที่ 1)
ในผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสซิกา ไม่ได้แนะนำให้ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสซิกา หมายรวมถึงผู้ที่วางแผนจะมีบุตร และผู้ที่จะประเมินหาความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ผ่านทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากความรู้ในเรื่องการกระจายของเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ยังมีน้อย และมีโอกาสที่ผลตรวจจะได้ทั้งผลบวกลวง หรือผลลบลวงได้ ยกเว้นกรณีที่มีอาการเข้าได้กับการติดเชื้อไวรัสซิกา ที่แนะนำให้ตรวจหาเชื้อไวรัสได้
สถานการณ์ในประเทศไทยที่มีรายงาน ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 สำหรับการเฝ้าระวังและติดตามในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 86 ราย คลอดแล้ว 74 ราย ไม่พบการติดเชื้อไวรัสซิกาในทารกเมื่อแรกคลอด ส่วนข้อมูลทารกศีรษะเล็กแต่กำเนิด จากระบบเฝ้าระวังพบทารกที่มีภาวะ Zika-related microcephaly จำนวน 2 ราย และ Congenital Zika syndrome 1 ราย6
สำหรับการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทย ตามคำแนะนำในคู่มือการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ปี 25597 แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกสอดคล้องกับคำแนะนำของ U.S. CDC ปี ค.ศ. 2016 ดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ขอกล่าวซ้ำ และอีกส่วนเป็นคำแนะนำที่อ้างอิงมาจากคำแนะนำด้านสุขภาพสำหรับนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 31 ณ เมืองริโอ เด จาเนโร สาธารณรัฐบราซิล8 รายละเอียดในคำแนะนำนี้ ได้แก่
- ผู้เดินทางหญิงควรคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ ก่อนการเดินทางไปยังประเทศเขตติดโรค 3 เดือน และในระหว่างที่อยู่ในประเทศเขตติดโรค จนกระทั่งเดินทางกลับออกมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน
- ทั้งชาย และหญิงควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยใช้ถุงยางอนามัย
- หากเป็นไปได้ผู้เดินทางหญิงควรงดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค หรือหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรปรึกษาแพทย์
เอกสารอ้างอิง
- Honein MA, Dawson AL, Petersen EE, Jones AM, Lee EH, Yazdy MM, et al. Birth Defects Among Fetuses and Infants of US Women With Evidence of Possible Zika Virus Infection During Pregnancy. Jama. 2017;317(1):59 – 68.
- Paz-Bailey G, Rosenberg ES, Doyle K, Munoz-Jordan J, Santiago GA, Klein L, et al. Persistence of Zika Virus in Body Fluids – Preliminary Report. The New England journal of medicine. 2017.
- Nicastri E, Castilletti C, Liuzzi G, Iannetta M, Capobianchi MR, Ippolito G. Persistent detection of Zika virus RNA in semen for six months after symptom onset in a traveller returning from Haiti to Italy, February 2016. Euro surveillance : bulletin Europeen sur les maladies transmissibles = European communicable disease bulletin. 2016;21(32).
- Petersen EE, Meaney-Delman D, Neblett-Fanfair R, Havers F, Oduyebo T, Hills SL, et al. Update: Interim Guidance for Preconception Counseling and Prevention of Sexual Transmission of Zika Virus for Persons with Possible Zika Virus Exposure -United States, September 2016. MMWR Morbidity and mortality weekly report. 2016;65(39):1077 – 81.
- พจมาน ศิริอารยาภรณ์, โรม บัวทอง, เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย, อาทิชา วงศ์คำมา. แนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในกลุ่มเสี่ยง. ใน: วรยา เหลืองอ่อน, นพรัตน์ มงคลางกูร. บรรณาธิการ. คู่มือการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ปี 2559. พิมพ์ครั้งที่ 1. กทม: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์;2559. หน้า 28 – 32.
- สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา [อินเตอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2560]; เข้าถึงได้จาก: http://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/sites/default/files/Situation%20Zika 150560.pdf
- สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่. การป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์. ใน: วรยา เหลืองอ่อน, นพรัตน์ มงคลางกูร. บรรณาธิการ. คู่มือการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ปี 2559. พิมพ์ครั้งที่ 1. กทม: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์; 2559. หน้า 92 – 93.
- สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่. คำแนะนำด้านสุขภาพสำหรับนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 31 ณ เมืองริโอ เด จาเนโร สาธารณรัฐบราซิล [อินเตอร์เน็ต]. 2559[เข้าถึงเมื่อ 3 ก.ค. 2559]. เข้าถึงได้ จาก: http://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/sites/default/files/health_advice_for_athletes_and_officials_final.pdf.