พญ. จุไร วงศ์สวัสดิ์
กลุ่มงานกุมารเวชกรรม สถาบันบำราศนราดูร
.
สรุปเนื้อหางานประชุมใหญ่ประจำปี 2562 ครั้งที่ 23 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 1-3 พฤษภาคม 2562
ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมาอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับประเทศไทยที่มีปัญหาการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในโรงพยาบาล เช่น Acinetobacter spp. และ Pseudomonas spp. ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในโรงพยาบาลและเชื้อแบคทีเรียที่เป็นปัญหาในชุมชน เช่น Escherichia coli ( E.coli), Klebsiella spp. และ Neisseria gonorrhoeae
นอกจากนี้ ยังมีเชื้อที่เป็นปัญหาในการเลี้ยงสัตว์และในอาหาร คือ E.coli, Campylobacter spp. และ Salmonella spp. โดยเรามีแผนยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการป่วยการตาย และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพดังกล่าว ซึ่งแผนยุทธศาสตร์จะช่วยให้การดำเนินงานสามารถบรรลุเป้าหมาย ภายในปี พ.ศ. 2564 โดยตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน
- ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน
ในบทบาทแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 1, 3 และ 5 ได้แก่ การมีส่วนร่วมในระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเชื้อดื้อยา (ที่สำคัญ ได้แก่ Acinetobacter spp., Enterococcus spp., Pseudomonas aeruginosa, Klebsiella pneumoniae, Salmonella spp., Staphylococcus aureus, E. coli, Streptococcus pneumoniae) การจัดให้สถานพยาบาลมีระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการติดเชื้อและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยมีแนวทางการแยกผู้ป่วย และแนวทางปฏิบัติสำหรับป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล รวมถึงการควบคุมกำกับดูแล การใช้ยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลอย่างเหมาะสม (โดยเฉพาะ Polymyxins, Carbapenems, 3rd และ 4th Generation Cephalosporins, Fluoroquinolones และ Beta-lactamase inhibitor combination) นอกจากนี้แพทย์สามารถมีส่วนร่วม ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมกับประชาชน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมกับประชาชน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายได้