CIMjournal
Chikungunya virus infection

เตือนภัย โรคชิคุนกุนยา ระบาดอีกครั้ง: เรื่องที่แพทย์ต้องรู้


พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

พญ. ปลอบขวัญ อึ้งชูศักดิ์พญ. ปลอบขวัญ อึ้งชูศักดิ์
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

.

 

เด็กชาย อายุ 9 ปี มีไข้สูง บ่นปวดศีรษะ มีอาเจียน 6 ครั้ง ต่อมาเริ่มเพ้อ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีอาการชักเกร็ง ไม่อ่อนแรง ตรวจร่างกายระบบประสาทอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีตอบคำถามช้า ซักประวัติเพิ่มเติม ทราบว่า ช่วง 1 – 2 สัปดาห์ก่อนผู้ป่วยเป็นไข้ ในละแวกบ้านมีผู้ป่วยเป็นไข้ออกผื่นประมาณ 10 ราย รวมถึงมารดาของผู้ป่วย ลักษณะไข้คล้ายกันคือ เป็นไข้ 3 – 4 วัน หลังไข้ลงเริ่มมีผื่นขึ้น และมีอาการปวดข้อ ผลตรวจ CSF ของผู้ป่วยรายนี้พบว่า ปกติ เนื่องจากมีประวัติอยู่ในพื้นที่ระบาดของผู้ป่วยไข้ออกผื่น ปวดข้อ แพทย์จึงส่งตรวจเลือด PCR for Chikungunya RNA detection ผล positive จึงให้การวินิจฉัยเป็น acute encephalitis from Chikungunya virus infection

ช่วงที่ผ่านมา กำลังอยู่ในฤดูฝน แม้ปีนี้ฝนจะไม่มากนัก แต่ประชากรยุงลายยังคงชุกชุม ทำให้โรคซึ่งนำพาโดยยุงลาย ระบาดไปพร้อม ๆ กัน โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่แพทย์หลาย ๆ คนรู้จักดีอยู่แล้ว แต่เราจะทำความรู้จักอีกโรคหนึ่ง ซึ่งนำโดยยุงลายเช่นเดียวกับไข้เลือดออก และเป็นโรคที่หลาย ๆ คนอาจไม่ได้ตระหนักถึง จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โรคที่ว่าคือ โรคชิคุนกุนยานั่นเอง แม้โรคจะไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ แต่ในบางครั้งอาการไม่ตรงไปตรงมา (atypical presentation) และสร้างความเจ็บป่วยรบกวนชีวิตประจำวันได้มากเช่นกัน ในบทความนี้เราจะมารู้จักโรคชิคุนกุนยาและเรียนรู้การตั้งรับกับการระบาดของโรคกัน


โรคชิคุนกุนยาคืออะไร

โรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคที่ถูกค้นพบตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1952 โรคสามารถติดต่อโดยมียุงลายเป็นพาหะ อาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้สูง มีอาการปวดข้อเด่น และสามารถพบผื่นร่วมด้วยได้ โรคชิคุนกุนยา มีการระบาดอยู่เป็นระลอก ๆ โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนชื้นรวมถึงประเทศไทย

ชื่อโรคชิคุนกุนยา มาจากภาษาพื้นเมืองของชาว Makonde(1) เนื่องจาก โรคถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1952 บริเวณพื้นที่ราบสูง Makonde ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศแทนซาเนียและสาธารณรัฐโมซัมบิก คำว่าชิคุนกุนยามีความหมายว่าการโค้งงอ มาจากลักษณะท่าทางของผู้ป่วยที่แสดงออกเนื่องจากความเจ็บปวดอย่างมากบริเวณข้อ


โรคชิคุนกุนยาเกิดจากเชื้ออะไร และติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร

โรคชิคุนกุนยา เกิดจากเชื้อไวรัส Chikungunya virus ซึ่งเป็น single-stranded RNA virus อยู่ใน genus alphavirus ใน family Togaviridae โรคถ่ายทอดผ่านยุงลายที่มีเชื้อเป็นพาหะนำโรค species ที่พบบ่อย ได้แก่ Aedes aegypti (ยุงลายบ้าน) และ Aedes albopictus (ยุงลายสวน) นอกจากนี้ ยังมีรายงานการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (vertical transmission)(2) โดยมีการศึกษาที่เกาะ Reunion พบว่าหากมารดามี viremia ในช่วงใกล้คลอด (intrapartum) อัตรา การถ่ายทอดสู่ลูกประมาณร้อยละ 47.8(3)

Chikungunya virus infection

รูปที่ 1 ยุงลาย Aedes aegypti


เคยมีการระบาดของดรคชิคุนกุนยาในประเทศไทยมาก่อนหรือไม่

หลังจากเริ่มค้นพบโรคชิคุนกุนยาในปี ค.ศ. 1952 โรคชิคุนกุนยาระบาดไปในหลายประเทศทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป การระบาดครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2005 ถึง ค.ศ. 2007 ที่เกาะเรอูว์นียง (La reunion island) ของประเทศฝรั่งเศส(4) ซึ่งประมาณการว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาถึง 266,000 รายบนเกาะ (ร้อยละ 34 ของประชากรทั้งหมด) จากนั้นจึงกระจายไปทั่วทวีปยุโรป

ในประเทศไทยมีการตรวจพบโรคชิคุนกุนยาครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958)(5) โดย Prof. W McD Hamnon แยกเชื้อชิคุนกุนยาได้จากผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพมหานคร อุบัติการณ์ของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจายและความชุกชุมของยุงลาย หลังจากที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ก็มีรายงานจากประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ เขมร เวียดนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

การระบาดของโรคมาเป็นระลอกเหมือนไฟลามทุ่ง เมื่อเกิดการระบาดโรคจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยมักเป็นฤดูที่ยุงลายชุก มีการติดเชื้อทั้งแบบมีและไม่มีอาการ เมื่อมีผู้ติดเชื้อและสร้างภูมิในชุมชนสูงพอแล้ว การระบาดก็จะสงบลง โรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น สามารถพบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี

chikungunya casesรูปที่ 2 แผนที่แสดงการระบาดของโรคชิคุนกุนยา

ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยาถึง 6 ครั้ง สถานการณ์ล่าสุดจากการรายงานในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา(6) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – 2561 พบว่า ในปีที่ผ่านมา โรคชิคุนกุนยากลับมาอีกครั้งและระบาดมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2561 อัตราป่วย 5.34 ต่อประชากรแสนคน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พบผู้ป่วยสะสม 3,506 ราย สูงกว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ถึง 142 เท่า กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ วัยทำงาน อายุ 15 – 34 ปี ที่สำคัญ ช่วงหลังเราพบการระบาดในภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย โดยเฉพาะเขตที่มีพื้นที่สวน เช่น เขตจอมทอง ทุ่งครุ ซึ่งพบผู้ป่วยในปีนี้ประมาณ 20 รายแล้ว


จะมีอาการอะไรบ้างเมื่อติดเชื้อชิคุนกุนยา

ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงอาการ (asymptomatic) พบได้ร้อยละ 15 – 30 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยามักแสดงอาการ(7) โดยพบระยะฟักตัวประมาณ 3 – 7 วัน (ระยะตั้งแต่ 1 – 12 วัน) อาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ(9) ได้แก่

  1. ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน (acute phase) ได้แก่ อาการที่เกิดขึ้นภายใน 21 วันแรกของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน 38 – 40°C อาการไข้จะสั้นกว่าในโรคไข้เลือดออกคือประมาณ 2 – 4 วัน อาการปวดข้อเป็นอาการเด่นของโรคชิคุนกุนยา ลักษณะข้อที่พบเป็นข้อเล็ก ได้แก่ ข้อนิ้วมือและนิ้วเท้า ข้อเท้า และมักเป็นสองข้าง (symmetric) อาการปวดข้อมักเป็นหลายข้อและเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ (migratory polyarthritis/ arthralgia) โดยอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อมักรุนแรงสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย ทำให้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันอาการปวดข้อจะคงอยู่ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ แต่อาจกลับเป็นซ้ำหรืออาการคงอยู่นานกว่านั้นได้ อาการทางผิวหนังก็เป็นอีกลักษณะเด่นของโรคชิคุนกุนยา พบได้ร้อยละ 80 โดยผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นลักษณะไม่จำเพาะ ส่วนใหญ่เป็นผื่น macular หรือผื่น maculopapular โดยผื่นมักขึ้นบริเวณใบหน้าและลำตัว ในช่วงวันที่ 2 – 5 หลังแสดงอาการ และคงอยู่ประมาณ 2 – 3 วัน.
    อาการอื่นที่พบได้ ไม่จำเพาะเจาะจง ได้แก่ อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต กดเจ็บ มีอาการตาแดงได้
  1. ระยะหลังการติดเชื้อเฉียบพลัน (post-acute phase) ระยะนี้คือ หลังจากเริ่มแสดงอาการนานกว่า 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือนหลังแสดงอาการในระยะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อกลับเป็นซ้ำอีกหรือในบางรายอาจไม่มีช่วงที่อาการดีขึ้นเลย และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการบวมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นกดทับเส้นประสาท ได้แก่ carpal tunnel syndrome, tarsal tunnel syndrome อาการอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะอาจพบอาการอ่อนเพลีย (chronic fatigue) ผมร่วง มีผิวหนังเปลี่ยนสี ภาวะเครียด หรือภาวะซึมเศร้าจากความเจ็บปวด

    Chikungunya virus infection                                                       รูปที่ 3 ผื่นในโรคชิคุนกุนยา
    .

  2. ระยะเรื้อรัง (chronic phase) พบอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน (พบร้อยละ 40 – 80) ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถอยู่ได้นานกว่า 1 ปีในผู้ป่วยบางราย อาการในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อเรื้อรัง มีข้อติดได้ หรือมีลักษณะบวมบริเวณข้อเท้าและขา อาการปวดมีระดับความรุนแรงต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ในบางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วยหรือมีอาการของเส้นประสาทอักเสบ.
    โดยส่วนใหญ่อาการของโรคจะไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่รุนแรงหรืออาการที่ไม่ตรงไปตรงมาได้ เช่น อาการทางระบบประสาทพบประมาณร้อยละ 0.1 – 4.4(8) ที่พบมากที่สุดคือ encephalitis ดังเช่น ในผู้ป่วยรายนี้ อาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ได้แก่ meningoencephalitis, Guillain Barre syndrome อาการทางระบบหัวใจ เช่น myocarditis อาการทางระบบอื่น ๆ เช่น uveitis, retinitis, bullous lesion, hepatitis, nephritis ซึ่งอาจรุนแรงจนต้องรับการรักษาในหอผู้ป่วย ICU.
    ในทารกที่มารดาติดเชื้อช่วงก่อนคลอด มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรครุนแรง มีรายงานว่า พบว่าอาจมีอาการ brain edema, severe encephalitis, cerebral hemorrhage, bullous skin lesion


แพทย์จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยา

อย่างที่ทราบกันว่าโรคไม่ได้มีอาการจำเพาะเจาะจง และผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ตรงไปตรงมาดังเช่นผู้ป่วยรายนี้ สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยคือ ความตระหนักถึง และที่สำคัญคือ ประวัติความเจ็บปวดลักษณะเดียวกับผู้ป่วยในคนใกล้ชิด ซักประวัติภูมิลำเนา การเดินทางและลักษณะที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะและพบมากในประเทศเขตร้อน ซึ่งสามารถพบโรคอื่น ๆ ที่นำโดยยุงด้วยเช่นกัน เช่น โรคไข้เลือดออก อาการของทั้งสองโรคมีความคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ ยังต้องวินิจฉัยแยกโรคจากไข้ออกผื่นอื่น ๆ เช่น Zika, Parvovirus B19, ไวรัสอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะ และผื่นแพ้ยาการวินิจฉัยชิคุนกุนยาต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ในปัจจุบันวิธีที่นิยมและสามารถทำได้ง่าย คือ

  1. ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (RNA detection) ด้วยวิธี RT-PCR สามารถส่งตรวจได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เก็บตัวอย่างในระยะมีไข้ หรือหลังแสดงอาการไม่เกิน 5 วัน
  2. ตรวจหา antibody anti-chikungunya IgM โดยวิธี ELISA สามารถส่งตรวจได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เช่นกัน โดยการแปลผลใช้ตัวอย่างคู่ (pair serum) ที่เจาะภายใน 7 วันหลังแสดงอาการ และเจาะซ้ำอย่างน้อย 14 วันหลังแสดงอาการ หากค่าสูงมากกว่า 2 เท่า (2 fold rising) ถือว่าให้ผลบวก
  3. การตรวจอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะ เช่น CBC ไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ในโรคชิคุนกุนยา พบจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดมักปกติ หรืออาจต่ำได้เล็กน้อย (มักไม่น้อยกว่า 100 x 103/ul) ซึ่งแตกต่างจากไข้เลือดออกที่สามารถพบเกล็ดเลือดต่ำได้มากกว่า


โรคชิคุนกุนยารักษาได้หรือไม่

ยังไม่มียารักษาที่จำเพาะกับไวรัสชิคุนกุนยาการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ ยาบรรเทาอาการปวดเป็นหลัก การรักษาตามอาการอื่น ๆ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ การพักผ่อน และพักใช้งานข้อที่มีอาการปวด ในเด็กเล็กควรเฝ้าระวังภาวะชักจากไข้สูง (พบได้มากกว่าโรคไข้เลือดออก) สำหรับทารกแรกเกิดสามารถกินนมแม่ขณะป่วยได้ เนื่องจากมีการศึกษาแล้วไม่พบเชื้อไวรัสในน้ำนม

สำหรับยาที่ใช้บรรเทาอาการปวด พิจารณาตามระยะของโรค และโรคประจำตัวอื่น ๆ ของผู้ป่วยในระยะเฉียบพลัน พิจารณาใช้ยา paracetamol เป็นหลัก ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม NSIADs หรือ corticosteroid ในระยะเฉียบพลัน เนื่องจากมีผลเสียมากกว่า และในระยะแรกอาการอาจยังแยกจากโรคไข้เลือดออกไม่ได้ ในรายที่มีอาการปวดรุนแรงมาก อาจพิจารณาใช้ยากลุ่ม opioid(9) เช่น tramadol ร่วมด้วย สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยา paracetamol ยังเป็นยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรก ยากลุ่ม NSIADs ถือเป็นข้อห้ามในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงของการปิด ductus arteriosus

หลังระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง การใช้ยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ยาสามารถบรรเทาอาการปวดได้ดี แต่ต้องระวังในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น มีความเสี่ยงต่อเลือดออกในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ อาจพิจารณาใช้ corticosteroid ทั้งในรูปกิน หรือฉีดเข้าข้อบริเวณที่มีการอักเสบมาก หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองกับยาที่กล่าวมาอาจพิจารณาปรึกษาแพทย์โรคข้อและรูมาติซึ่ม และกายภาพบำบัด เพื่อร่วมประเมินการรักษาอาจใช้ยากลุ่ม disease-modifying antirheumatic drugs (DMARDS) ร่วมด้วย

นอกจากการรักษาด้วยยาแก้ปวด การแนะนำพักการใช้งานข้อในช่วงเฉียบพลันถือเป็นสิ่งสำคัญ ในระยะเรื้อรังผู้ป่วยอาจมีปัญหาข้อติด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูการทำงานของข้อ บางรายอาจต้องปรึกษาจิตแพทย์กรณีผู้ป่วยมีความซึมเศร้า หากมีอาการปวดเรื้อรังนาน ๆ จนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้

สำหรับยาต้านไวรัสยังอยู่ในช่วงการวิจัย(10) เช่น chloroquine, arbidol, ribavirin, favipravir ฯลฯ ยังไม่มียาใดที่ได้ผลดีในการรักษาโรค จึงยังไม่มีการแนะนำยาต้านไวรัสในการรักษาโรคชิคุนกุนยาในปัจจุบัน


โรคชิคุนกุนยาสามารถป้องกัน ได้หรือไม่

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนไข้เลือดออก ดังนั้น การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดย

  1. หมั่นทายากันยุง แนะนำให้ใช้ DEET ความเข้มข้นไม่เกินร้อยละ 30
  2. สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด แขนยาว ขายาว
  3. นอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน อาจใช้มุ้งชุบสารเคมีฆ่ายุงหรือชุบสารเคมีในผ้าม่าน
  4. กำจัดแหล่งน้ำขังเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน และระแวกรอบบ้าน 100 – 500 เมตร ได้แก่ คว่ำหรือทำลายภาชนะที่เก็บน้ำขัง
  5. กางมุ้งหรือทายากันยุงให้กับผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดแล้วแพร่เชื้อต่อได้


เราจะรับมือกับการระบาดของชิคุนกุนยาได้อย่างไร

โรคนี้ระบาดอยู่เป็นระยะ ๆ มาแล้วหายไปเองดังที่กล่าวมาแล้ว เราสามารถดูแลป้องกันตนเองและครอบครัวโดยวิธีข้างต้น สำหรับแพทย์ทั่วไปควรติดตามข่าวสารการระบาด เพื่อทราบสถานการณ์ของโรค หากมีผู้ป่วยมีอาการไข้สูงในช่วงหน้าฝน ก็อย่าลืมนึกถึงโรคชิคุนกุนยา การซักประวัติคนเจ็บป่วยในครอบครัวและละแวกบ้าน เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การวินิจฉัยโรคได้ เช่นเดียวกับเคสตัวอย่างนี้ หากวินิจฉัยได้ การรักษาก็เพียงแต่รักษาตามอาการ และติดตามอาการ ที่สำคัญอย่าลืมรายงานโรค เพื่อเป็นข้อมูลทางระบาดวิทยาด้วย หากมีผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยโรคชิคุนกุนยา สามารถติดต่อขอส่งตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจยืนยันโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และรายงานโรคได้ที่ สถาบันวิจัยสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

สำหรับผู้ป่วยกรณีตัวอย่าง ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นชิคุนกุนยาที่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท หลังนอนโรงพยาบาลได้ 2 วัน แนวโน้มไข้เริ่มต่ำลง เริ่มพูดคุยรู้เรื่อง ทีมแพทย์ได้หยุดการให้ยาฆ่าเชื้อ และ acyclovir หลังผลตรวจเพิ่มเติมกลับมา ผู้ป่วยไข้ลงดี และมีผื่นขึ้นเล็กน้อยตามลำตัวและแขนขา แต่ไม่มีอาการปวดข้อ ก่อนกลับบ้าน ผู้ป่วยรู้ตัวดี ไม่ซึม ไม่มีไข้อาการเป็นปกติดี

จะเห็นว่า อาการของโรคชิคุนกุนยามีหลากหลาย แต่การรักษาคือ การรักษาตามอาการเท่านั้น พยากรณ์โรคค่อนข้างดี คนไข้มีไข้สูงช่วงหน้าฝน อย่าลืมนึกถึงโรคชิคุนกุนยาและซักประวัติความเจ็บป่วยของคนครอบครัวอาจมีส่วนช่วยวินิจฉัยได้

 

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.tm.mahidol.ac.th/eng/tm-knowledge/chikungunya.html.
  2. CDC.Chikungunya[online] Available at: https://www.cdc.gov/chikungunya/transmission/index.html.
  3. Gérardin, Patrick et al. “Multidisciplinary prospective study of mother-to-child chikungunya virus infections on the island of La Réunion.” PLoS medicine vol. 5, 3 (2008): e60. doi: 10.1371/ journal.pmed.0050060.
  4. Lo Presti A, Lai A, Cella E, Zehender G, Ciccozzi M. Chikungunya virus, epidemiology, clinics and phylogenesis: a review. Asian Pac J Trop Med. 2014; 7(12): 925 – 32.
  5. http://www.boe.moph.go.th/fact/Chikungunya.html.
  6. สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายประเทศไทย ประจำสัปดาห์ที่ 20/2562 สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. Available at: https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor/6f4922f45568161a 8cdf4ad2299f6d23/files/Chikun/2562/chikun_wk%2020.pdf [accessed 23 Jul.2019].
  7. American Academy of Pediatrics. Chikungunya. In: Kimberlin DW, Brady MT, Jackson MA, Long SS, eds. Red Book: 2018 Report of the Committee on Infectious Disease. 31st ed. Itasa, IL: American Academy of Pediatrics; 2018: 271 – 272.
  8. Mehta, Ravi, et al. “The Neurological Complications of Chikungunya Virus: A Systematic Review.” Reviews in Medical Virology, John Wiley and Sons Inc., May 2018, www.ncbi.nlm.nih.gov/ pubmed/29671914.
  9. Cunha, Rivaldo V da, and Karen S Trinta. “Chikungunya virus: clinical aspects and treatment – A Review.” Memorias do Instituto Oswaldo Cruz vol. 112, 8 (2017): 523 – 531. doi: 10.1590/007402760 170044.
  10. Abdelnabi R, e. (2019). Antiviral Strategies Against Chikungunya Virus. – PubMed – NCBI. [online] Ncbi.nlm.nih.gov. Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27233277 [Accessed 23 Jul. 2019].

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก