ผศ. พญ. อรศรี วิทวัสมงคล
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เนื้อหางานประชุมใหญ่ประจำปี 2563 ครั้งที่ 24 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 17 ตุลาคม 2563
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2) ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ไปทั่วโลกนั้น ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากโรงพยาบาล ในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นวัน world patient safety day 2020 องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประมาณ 1 ใน 7 ของผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แม้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นการติดเชื้อจากในโรงพยาบาลหรือจากชุมชน ความปลอดภัยของผู้ป่วยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัยก่อน ดังนั้น มาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในโรงพยาบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย และบุคลากรโรงพยาบาลควรจัดการให้ความรู้แก่บุคลากรทุกระดับ รายงานผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่จะได้เป็นตัวติดตามชี้วัดการควบคุม และป้องกันโรค รวมถึงมีแนวทางการปฏิบัติสำหรับบุคลากรเมื่อมีความเสี่ยง หรือสงสัยเจ็บป่วยด้วยโรค COVID-19
สำหรับมาตรการป้องกัน และควบคุมโรค COVID-19 ของโรงพยาบาลในช่วงที่มีการระบาด มีหลักการโดยทั่วไปดังนี้ คือ
- ลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคให้น้อยที่สุด เช่น จำกัดปริมาณผู้ป่วยที่จะมาโรงพยาบาลเท่าที่จำเป็น จำกัดผู้เข้าเยี่ยม คัดกรองผู้ป่วยทางโทรศัพท์ก่อนวันนัดหมาย ใช้ universal source control คือ ทุกคนที่เข้าโรงพยาบาลต้องใส่หน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 6 ฟุต จำกัดทางเข้าออกโรงพยาบาล จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ และถังขยะให้เพียงพอ
- การคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ และครอบคลุม แยกผู้ป่วยที่สงสัย หรือได้รับการวินิจฉัยยืนยันได้โดยเร็ว และเหมาะสม มีการคัดกรองอาการ และประวัติเสี่ยงทุกคนก่อนที่จะเข้าอาคารโรงพยาบาล จัดพื้นที่ที่ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจแยกจากผู้ป่วยอื่น มีระบบการรับส่งต่อผู้ป่วยรวมถึงการเคลื่อนย้ายที่เหมาะสม ประเมินทบทวนผู้ป่วยในที่มีอาการสงสัยโรค COVID-19 มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ได้ผลการตรวจถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การแยกผู้ป่วยได้ตามหลักการ transmission-based precaution สำหรับการแยกผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย หรือสงสัยโรค COVID-19 นั้น ควรให้อยู่ห้องเดี่ยวที่มีประตูปิด ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยยืนยันแล้วอาจให้อยู่ห้องรวมกันชนิดที่มีห้องน้ำในตัว ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากหอผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น สำหรับห้องแยกชนิด Airborne Infection Isolation Rooms (AIIRs) ควรสำรองไว้ใช้กับผู้ป่วยที่ต้องทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝอยละออง (aerosol generating procedures) เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้ออกซิเจน high flow การดูดเสมหะ ชนิด open suctioning การทำ bronchoscopy หรือการพ่นยาโดยใช้ nebulizer เป็นต้น
- ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยให้ความรู้แก่บุคลากรทุกระดับตั้งแต่แพทย์ ทันตแพทย์เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่งานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ รวมถึงพนักงานทำความสะอาด จำกัดจำนวนบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยต่อวัน จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล (personal protective equipment) ให้เพียงพอ และใช้ได้อย่างเหมาะสม ในช่วงเวลาพัก บุคลากรควรใส่หน้ากากอนามัย และควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 ฟุต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เช่น ขณะรับประทานอาหาร นอกจากนี้ โรงพยาบาลควรมีแนวทางการปฏิบัติสำหรับบุคลากรเมื่อมีความเสี่ยง หรือสงสัยเจ็บป่วยด้วย โรค COVID-19 รวมถึงการประคับประคองทางจิตใจด้วย
ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางการปฏิบัติต่าง ๆ จะต้องปรับให้เข้ากับบริบท และทรัพยากรของแต่ละโรงพยาบาลด้วย โรค COVID-19 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ จึงควรติดตามความรู้ที่ทันสมัย และทบทวนแนวทางการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับปรุง และแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์