รศ. นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์
ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี.
สรุปเนื้อหาการประชุมประจำปี 2565 สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 3 ธันวาคม 2564
วัคซีนเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำที่เกิดจากเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย หรือไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปกติการศึกษาวิจัยวัคซีนใหม่ แต่ละตัวต้องใช้เวลา 5 – 10 ปีกว่าจะมีการขึ้นทะเบียนใช้โดยทั่วไป หลักการที่สำคัญ คือ วัคซีนต้องมีความปลอดภัย (สำคัญที่สุด) มีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคในระดับที่ยอมรับได้
แต่วัคซีนโควิด-19 มีความพิเศษกว่าในอดีตเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การแพร่กระจายและความรุนแรงของโรคที่มีอัตราป่วยที่สูง อัตราตายเฉลี่ยประมาณ 2% ประกอบกับโรคโควิด-19 มีการระบาดกว้างขวางไปทั่วโลกในเวลาอันสั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากที่สุดในศตวรรษนี้ จึงมีการวิจัยอย่างเร่งรีบและมีการขึ้นทะเบียนใช้ฉุกเฉิน (Emergency Used Authorization : EUA) หรือขึ้นทะเบียนใช้อย่างมีเงื่อนไข (Conditional licensing) ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อว่าตั้งแต่นำเชื้อ SARS-Cov-2 ไปทดลองทำวัคซีนจนกระทั่งนำออกมาใช้อย่างฉุกเฉินดังกล่าวใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 8 – 9 เดือนเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อเริ่มการใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นก็จะมีปัญหา-คำถามต่าง ๆ ตามมามากมาย โดยวงการแพทย์มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจตามหลักวิทยาศาสตร์และแก้ไขให้หายข้อสงสัยต่อไป
แผนงานวัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศไทยเพื่อฉีดคนไทยในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ มีหลายปัจจัยดังนี้
- Scientific data of safety and efficacy เนื่องจากการศึกษาเป็นไปอย่างเร่งรีบเพื่อต่อสู้กับโรคที่กำลังจะระบาดอย่างรุนแรง มีความจำเป็นต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินงานวิจัยในหลายประเทศพร้อมๆ กัน
- Emergency Used Authorization or Conditional lensing มีความจำเป็นต้องพิจารณาการขึ้นทะเบียนในภาวะวิกฤต โดยองค์การอนามัยโลกตั้งเกณฑ์ไว้ว่าต้องมีประสิทธิภาพวัคซีนไม่ต่ำกว่า 50% และมีความปลอดภัยเบื้องต้นที่ยอมรับได้ ซึ่งทาง อย.กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการขึ้นทะเบียนอย่างมีเงื่อนไขในวัคซีนโควิด-19 หลายชนิดที่มายื่นทะเบียน
- Procurement of vaccines การจัดซื้อจัดหาวัคซีนเป็นเรื่องที่มีความยากลำบากและซับซ้อนมาก เพราะทุกประเทศต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพสูงสำหรับคนของประเทศตนเอง แต่เนื่องจาก “ตลาดเป็นของผู้ขาย” ดังนั้นจึงต้องมีวัคซีนที่พร้อมใช้ในขณะนั้นและสามารถนำมาใช้อย่างรีบด่วนให้ทันเวลา แม้ว่าประสิทธิภาพจะต่ำกว่าบ้าง (ดีกว่าไม่มีอะไรเลย) สำหรับประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง (แต่ระดับสูง) ไม่สามารถร่วมโครงการ COVAX (ของ WHO) ที่ไม่ต้องเสียเงินจอง หากร่วมโครงการ COVAX ก็ต้องจ่ายเงินตามปกติและต้องจ่ายเงินล่วงหน้าด้วย ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคต่อกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทยและความไม่แน่นอนในเงื่อนเวลาของการได้วัคซีนมาใช้
- Prioritization of COVID-19 Vaccine การเตรียมกลุ่มที่จะรับวัคซีนแรก ๆ นั้น ปัญหาไม่มากเพราะมีรูปแบบจากต่างประเทศที่เริ่มการฉีดวัคซีนก่อนประเทศไทยมา 2-3 เดือนแล้วและมีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเป็นแนวทางอ้างอิง ซึ่งกลุ่มแรก ๆ คือ บุคลากรด่านหน้าต่าง ๆ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- Logistic of COVID-19 Vaccine management เนื่องจากการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นั้นมีหลาย platform มีวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีน mRNA จำเป็นต้องจัดส่ง จัดเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำมาก เช่น -7 ๐c ทำให้เกิดความลำบากในการขนส่ง จัดเก็บ อย่างไรก็ตามปัญหานี้ทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้มีการปรับปรุงและแก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้พื้นที่ห่างไกลมีการบริหารจัดการวัคซีนเหล่านี้ได้เหมาะสมถูกต้องตามมาตรฐานของวัคซีนนั้น ๆ
ตั้งแต่มีการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 (ประมาณ 2 เดือนครึ่งหลงการฉีดวัคซีนนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา) จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยดำเนินการไปแล้วประมาณ 80 ล้านเข็ม ประชากรไทยประมาณครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนแล้วตั้งแต่สองหรือมากกว่าสองเข็ม (50.7)% ผลการฉีดวัคซีนเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ที่ทางรัฐและเอกชน (บางส่วน) จัดหามาได้เพียงพอในการต่อสู้กับการระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศ และภาครัฐกำลังพิจารณาถึงแผนการฉีดวัคซีนในปีหน้า (2565) ซึ่งมีข้อมูลบ่งบอกว่าโรคโควิด-19 ยังไม่หยุดระบาดและอาจมีการกลายพันธุ์ต่อไป
อย่างไรก็ตามปัญหาของวัคซีนโควิด-19 ยังมีอยู่มากมายที่ต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีมากขึ้น ยังมีประชาชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังไม่ยอมรับวัคซีนโควิด-19 อยู่บ้าง วัคซีนบางชนิดขาดแคลนดังนั้นปัญหาต่าง ๆ ที่น่าจะยังมีอยู่ต่อไป คือ
- การฉีดวัคซีนไขว้ (Mix and Match) ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีการวิจัย วัคซีนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือมาสลับไขว้เพื่อเป็นการเพิ่มพูนภูมิคุ้มกันให้มีระดับสูงขึ้น (ซึ่งน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น) เป็นประสบการณ์ที่เกิดจากความจำเป็นบังคับและเป็นการหาทางออกของการแก้ปัญหาการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเหมาะสมกับปัญหาของประเทศไทย
- การพึ่งพาตนเอง โดยการคิดเอง วิจัยเอง ผลิตเอง เพื่อความอยู่รอดของประเทศเราเอง การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเราเองต้องมีแนวนโยบายพึ่งพาตนเองเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม
- การจัดซื้อจัดหาวัคซีนต่างชนิดกัน เพื่อให้เพียงพอสำหรับการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะไปจบลงเมื่อไร ในขณะเดียวกันก็รอวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยคิด-ไทยทำ-ไทยใช้ ในโอกาสต่อไปเมื่อมีความพร้อม
- มีระบบการสื่อสารไปยังภาคประชาชนให้เห็นประโยชน์และความสำคัญในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันโรคและเพื่อเปิดโอกาสให้ด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินต่อไปอีกครั้ง ถึงแม้จะไม่ราบรื่นอย่างดีก็ตาม
- การขยายกลุ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายมากสำหรับระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุขเพราะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เริ่มมีผลกระทบและคำนึงถึงการฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มแล้วภูมิคุ้มกันเริ่มตกลงเพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพดี
สรุป
วัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการควบคุมผลกระทบต่อระบบสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศและเฝ้ารอการกำเนิดของวัคซีนไทยคิด-ไทยทำ-ไทยใช้ มาดำเนินงานให้ประเทศไทยเราสามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
ขอขอบคุณสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย