พญ. วรรษมน จันทรเบญจกุล
บัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พญ. จุไร วงศ์สวัสดิ์
สถาบันบำราศนราดูร
.
สรุปเนื้อหาจากงานประชุมใหญ่ประจำปี 2561 ครั้งที่ 22 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 5 พฤษภาคม 2561
โรคติดต่ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases) ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก รวมหมายถึง
- โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (new infectious organism) เช่น ซาร์ส เมอร์ส อีโบลา
- โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (new geographical area)
- โรคติดต่ออุบัติซ้ำ (re-emerging infectious diseases) เช่น คอตีบ ไอกรน กาฬโรค
- เชื้อก่อโรคที่ดื้อยาต้านจุลชีพ (antimicrobial resistant organisms) เช่น Carbapenem-resistance enterobactericae (CRE)
- เหตุจงใจกระทำของมนุษย์ด้วยอาวุธชีวภาพ (bioterrorism) เช่น แอนแทรกซ์
โดยประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่ 3 กลุ่ม คือ
- โรคติดต่ออุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา คอตีบ ไอกรน
- โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น อีโบลา เมอร์ส ไข้เหลือง รวมถึงโรคที่ติดมาจากสัตว์ เช่น ฝีดาษลิง
- โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และโรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ในปี พ.ศ. 2559 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
- การพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
- การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษาและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
- การพัฒนาระบบการสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์โรคติดต่ออุบัติใหม่
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
- การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่
- การส่งเสริมการจัดการความรู้ การวิจัยและพัฒนา
บทบาทของกุมารแพทย์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่ออุบัติใหม่
บทบาทของกุมารแพทย์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้ยึดหลัก 4I-Identify, Isolate, Inform และ Investigate Identify (ระบุผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดต่ออุบัติใหม่)
โดยวิธีการซักประวัติความเสี่ยงทางระบาดวิทยาในการไปสัมผัสโรคต่าง ๆ เช่น หากมาด้วยอาการเข้ากับปอดอักเสบ อาจจะต้องสอบถามประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก เดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อไข้หวัดนก หรือสอบถามประวัติ การสัมผัสอูฐ ดื่มนมอูฐ หรือเดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเมอร์ส ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมีอาการ ซึ่งกุมารแพทย์ควรจะมีการติดตามข่าวการระบาดต่าง ๆ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ โดยสามารถติดตามข่าวสารได้จากสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (http://www.boe.moph.go.th) และข่าวสารจากทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (http://www.who.int/csr/don/en/)
Isolate (แยกโรค)
หากซักประวัติเบื้องต้นพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคติดต่ออุบัติใหม่ ให้ทำการแยกผู้ป่วยเข้าห้องแยกโดยเร็วที่สุด และการดูแลผู้ป่วย ควรต้องใช้การป้องกันควบคุมโรคในระดับสูงสุดเสมอ เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่ยังไม่ทราบทางแพร่กระจายเชื้อที่ชัดเจน โดยยึดหลัก standard precautions รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อแบบ contact, droplet และ airborne precautions จนเมื่อทราบทางแพร่กระจายเชื้อที่ชัดเจน จึงค่อยปรับลดลงให้สอดคล้องกับทางแพร่กระจายเชื้อของโรคนั้น ๆ
Inform (รายงานผู้เกี่ยวข้อง)
ปัจจุบัน ประเทศไทยมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งโรคในกลุ่มโรคติดต่ออุบัติใหม่ มักจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่ออันตราย ที่ต้องรายงานสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคทราบทันที เพื่อการดำเนินงานติดตามผู้สัมผัสมาแยกกัก (quarantine) หรือแยกโรค (isolate) ตามความเหมาะสมโดยเร็วที่สุด
Investigate (ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ)
เก็บสิ่งส่งตรวจและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างถูกวิธี จะช่วยให้ผลการตรวจวินิจฉัยมีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น อาทิ หากสงสัยไข้หวัดนกควรเก็บตัวอย่างเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรงติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดอักเสบ ควรเก็บ ตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น tracheal aspirate, sputum ถ้ามีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ให้เก็บ nasopharyngeal swab ร่วมกับ throat swab เป็นต้น โดยต้องศึกษาวิธีการเก็บและการนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อให้มีการดำเนินการที่ถูกต้องและปลอดภัยกับบุคลากร
การเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่ออุบัติใหม่นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แพทย์ต้องมีความรู้ ติดตามข่าวสารเฝ้าระวังและสอบถามประวัติในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคติดต่ออุบัติใหม่อย่างเสมอ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที มีมาตรการการป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม และจำกัดการแพร่ระบาดของโรคได้ภายใต้เวลาอันรวดเร็ว
เอกสารอ้างอิง
- สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกัน และแก้ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564). พิมพ์ครั้งที่ 1; พ.ศ.255.
- Saiman L, Arrington AS, Bell M. Preparing for Emerging Infectious Diseases JAMA Pediatr, 2017. ว171ซ411-2.
- Brookes VJ, Hernandez-Jover M, Black PF, Ward MP. Preparedness for emerging infectious disease: pathways from anticipation to action. Epidemiol Infect. 2015;143:2043-58.
- กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 วันที่ 1 ธันวาคม 2560.