อ.พญ. สุพัตรา รุ่งไมตรี
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
พญ. ปลอบขวัญ อึ้งชูศักดิ์
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
โรคตับอักเสบเอ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (hepatitis A virus: HAV) พบเป็นสาเหตุของตับอักเสบที่สำคัญนอกเหนือจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี พบบ่อยในพื้นที่ที่ขาดการสาธารณสุขที่ดี เชื้อไวรัสตับอักเสบเอจะอาศัยอยู่ในลำไส้ และถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย การติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ (fecal-oral route) ระยะฟักตัวหลังจากที่ได้รับเชื้อเฉลี่ย 28 วัน (พิสัย 15 – 50 วัน) ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการแบบเฉียบพลัน เริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เจ็บใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม อุจจาระสีเหลืองซีด ต่อมาอาการจะค่อย ๆ ทุเลา แต่จะพบมีตัวเหลืองตาเหลืองเกิดขึ้น โดยปกติโรคตับอักเสบเอมักหายขาด ไม่ทำให้เป็นตับอักเสบเรื้อรัง หรือเกิดเป็นพาหะ1 ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับอายุของผู้ติดเชื้อ โรคประจำตัว การติดเชื้อในเด็กส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ปัจจุบันสถานการณ์โรคตับอักเสบเอพบมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เป็นผลจากการปรับปรุงสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการติดเชื้อในวัยเด็กน้อยลงเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จึงไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในวัยผู้ใหญ่มากขึ้น
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการสำรวจภูมิคุ้มกันต่อ HAV ของประชากรไทย ในปี พ.ศ. 25592 พบอัตราความชุกโดยรวมของประชากรไทยมีภูมิคุ้มกันต่อ HAV ร้อยละ 34.5 เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการสำรวจ ในปี พ.ศ. 25143 ที่พบอัตราความชุกของประชากรมีภูมิคุ้มกันต่อ HAV ร้อยละ 86.4 แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันประชากรไทยมีภูมิคุ้มกันต่อ HAV ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก สาเหตุเนื่องจากประเทศไทยมีการสุขาภิบาลที่ดี น้ำดื่มมีความสะอาดมากขึ้น ประชากรส่วนใหญ่จึงยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน จากข้อมูลข้างต้นจะได้ว่าเห็นว่าโรคตับอักเสบเอ อาจกลับมาเป็นโรคที่สร้างปัญหาทางสาธารณสุขมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ป่วยจะเปลี่ยนเป็นช่วงอายุวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน ซึ่งการติดเชื้อในกลุ่มนี้มักทำให้เกิดอาการแสดง ดังนั้น แนวทางการป้องกันการติดเชื้อ HAV สามารถทำได้โดยการมีระบบสุขาภิบาลที่ดี รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด รักษาสุขอนามัยส่วนตัวด้วยการล้างมือ และการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาวตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ ยังมีการให้วัคซีนหรืออิมมูโนโกลบูลิน สำหรับผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งก่อนและหลังการสัมผัสโรค (pre-exposure and post-exposure prophylaxis)
ในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2561 คณะอนุกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP); US CDC) ได้มีคำแนะนำใหม่เกี่ยวกับการให้วัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ4 โดยบทความนี้ขอกล่าวถึงการให้ pre-exposure and post-exposure prophylaxis เป็นหลัก
การป้องกันก่อนการสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis)
- กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการป้องกันก่อนสัมผัสโรค ได้แก่ ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HAV สูง และผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง (ตารางที่ 1)
.
ตารางที่ 1 กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการป้องกันก่อนสัมผัสโรค (ดัดแปลงจาก ตารางที่ 3)4
ตารางที่ 2 การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอก่อนและหลังสัมผัสโรค (ดัดแปลงจากตารางที่ 1)4
* ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนเชื้อเป็น (lived attenuated vaccine) ให้ห่างจาก IG อย่างน้อย 3 เดือน
† หากต้องการสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอเข็มที่สอง ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน
§ หากแพทย์ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ จะให้ทั้งวัคซีนและ IGIM โดยควรฉีดวัคซีนและ IGIM ที่คนละตำแหน่ง
‡ วัคซีนและ IGIM ควรฉีดคนละตำแหน่งกัน
** ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน ได้แก่ มีอาการแพ้อย่างรุนแรง (anaphylaxis) ต่อวัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน
§§ IGIM ขนาด 0.1 มล./กก. เมื่อเดินทางไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนาน 1 เดือน, ขนาด 0.2 มล./กก. เมื่อเดินทางนาน 2 เดือน, หากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนานกว่า 2 เดือน ควรได้รับ IG ขนาด 0.2 มล./กก. ซ้ำทุก 2 เดือนจนกว่าจะไม่มีความเสี่ยง
‡‡ ไม่นับอยู่ในวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันตามวัย
*** หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อ HAV แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างน้อยหนึ่งเข็มก่อนเดินทาง และควรฉีดเข็มที่ 2 ห่างกัน 6 – 12 เดือน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว
††† อาจพิจารณาฉีด IGIM ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยง
. - การป้องกันการติดเชื้อ HAV (pre-exposure prophylaxis) กรณีเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HAV สูง
-
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ไม่มีข้อมูลการให้วัคซีนในกลุ่มอายุนี้ จึงแนะนำให้อิมมูโนโกลบูลินฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IGIM) ขนาด 0.1 – 0.2 มล./กก. (ตารางที่ 2)
- เด็กอายุ 6 – 11 เดือน ที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HAV แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ 1 เข็ม โดยควรใช้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอชนิดเชื้อไม่มีชีวิต5 แต่ไม่นับเข็มที่ฉีดก่อนอายุ 1 ปี รวมอยู่ในการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ ตามปกติเด็กจำเป็นต้องได้วัคซีนอีกครั้งหลังอายุ 1 ปี
- ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีอายุ 12 เดือน – 40 ปี หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อ HAV แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอหนึ่งเข็มทันทีที่พิจารณาเดินทาง (หากใช้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น ให้ได้ตั้งแต่อายุ 18 เดือนขึ้นไป)5 และควรฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว
- ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี, ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ ร่วมกับการให้ IGIM ก่อนเดินทาง
การป้องกันหลังการสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis)
- เด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือน หรือมีข้อห้ามในการให้วัคซีนควรได้รับ IGIM ขนาด 0.1 มล./กก. โดยเร็วที่สุด หรือภายใน 2 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค กรณีผู้ที่มีแผนต้องได้รับฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ควรเลื่อนให้ห่างจาก IGIM อย่างน้อย 3 เดือน
- ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีอายุ 12 เดือนขึ้นไป หากไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอมาก่อน แนะนำให้วัคซีน 1 เข็มโดยเร็วที่สุด หรือภายใน 2 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค (หากใช้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นให้ได้ตั้งแต่อายุ 18 เดือนขึ้นไป)5 หากต้องการสร้างภูมิคุ้มกันกันระยะยาว ควรฉีดวัคซีนเข็มที่สองห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน กรณีผู้สัมผัสโรคอายุมากกว่า 40 ปี อาจพิจารณาให้ IGIM พร้อมกับการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของแพทย์
- เด็กและผู้ใหญ่ที่อายุ 12 เดือนขึ้นไป และภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคตับเรื้อรัง หากยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอครบ 2 เข็ม ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ และให้ IGIM พร้อมกันที่คนละตำแหน่งโดยเร็วที่สุด
เอกสารอ้างอิง
- Commitee on Infectious Diseases, American Academy of Pediatrics. Hepatitis A. In: Long SS, Jackson MA, Brady MT, Kimberlin DW, editors. Red book: 2018 Report of the committee on Infectious Diseases. 31st ed. Itasca: American Academy of Pediatrics; p.392 – 400.
- Sa-nguanmoo P, Posuwan N, Vichaiwattana P, Vuthitanachot V, Saelao S, Foonoi M, et al. Declining Trend of Hepatitis A Seroepidemiology in Association with Improved Public Health and Economic Status of Thailand. PLoS ONE [Internet]. 2016 Mar 23 [cited 2019 May 9];11(3). Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4805277/.
- Burke DS, Snitbhan R, Johnson DE, Scott RM. Age-specific prevalence of hepatitis A virus antibody in Thailand. Am J Epidemiol. 1981 Mar; 113(3): 245 – 9.
- Nelson NP. Update: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices for Use of Hepatitis A Vaccine for Postexposure Prophylaxis and for Preexposure Prophylaxis for International Travel. MMWR Morb Mortal Wkly Rep [Internet]. 2018 [cited May 9th, 2019]. Available from: https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/67/wr/mm6743a5.html.
- สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทยปกติ แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2562 [internet] 2562. [cited May10th, 2019]. Available from: http://www.pidst.or.th/A694.html.