รศ. พญ. วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์
หน่วยโรคติดเชื้อ กุมารเวชศาสตร์
สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี
เนื้อหางานประชุมใหญ่ประจำปี 2563 ครั้งที่ 24 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 17 ตุลาคม 2563
แนวทางการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ เรื่องของ 1. โครงสร้าง 2. ระบบบริการ และ 3. บุคลากรผู้ให้บริการ ในประเด็นโครงสร้างการให้บริการ เนื่องจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ เป็นสถาบันที่ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยเด็กจึงมีความแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ด้วยประเด็นหลักที่ว่า คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์น่าจะมาด้วยอาการไข้ และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นหลัก ดังนั้น การจะแยกมาเป็นห้องตรวจ Acute Respiratory Infection (ARI) เหมือนที่โรงพยาบาลอื่น อาจจะทำได้ยาก เพราะเป็นคนไข้ส่วนใหญ่ที่มารับบริการ ในช่วงแรกที่มีการระบาดอยู่ในวงจำกัด และมีประวัติเสี่ยงตามเกณฑ์ PUI ที่ชัดเจน จึงเพียงแต่ให้มีพื้นที่พิเศษสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แต่ระยะหลังประมาณกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา จากการพยากรณ์ที่จะมีโอกาสแพร่กระจายของเชื้อเป็นวงกว้างหรือที่เรียกว่า phase 3 ของการระบาด จึงได้มีการตัดสินใจจัดหาให้มีคลินิก ARI แยกออกมาโดยเฉพาะ ให้ผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจไม่ปะปนกับผู้ป่วยที่มาด้วยอาการระบบอื่น ๆ
ในช่วงที่มีการวางแผนทำ ARI คลินิก หรือคลินิกไข้หวัด แบบเต็มรูปแบบช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานของหอผู้ป่วยใน เช่นเดียวกันโดยแยกเป็นหอผู้ป่วยที่รับโรคระบบทางเดินหายใจเพียงอย่างเดียว และหอผู้ป่วยที่รับโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ระบบทางเดินหายใจ และมีการปรับปรุงห้องเดี่ยวในหอผู้ป่วยพิเศษให้สามารถมีระบบดูดอากาศที่รองรับเป็นชนิด modified airborne infection isolation room (AIIR) เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมการแพร่กระจายได้ดียิ่งขึ้น พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในหอผู้ป่วยซึ่งออกแบบไว้ให้รองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในส่วนของระบบการให้บริการได้ มีการดำเนินนโยบายลดความแออัด โดยการเลื่อนการผ่าตัดและการนัดผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นโดยเน้นเป็นการส่งยาทางไปรษณีย์ มีการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ และทางไลน์ มีการจัดประชาสัมพันธ์สายด่วน ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึง และสอบถามข้อมูล ได้จัดให้มี facebook ไลฟ์ รายการที่นี่มีหมอเด็กใน YouTube channel มีการนัดหมายให้แพทย์ต่าง ๆ เวียนมาตอบคำถาม จัดให้มีป้ายประชาสัมพันธ์ Google site ให้ข้อมูลทางเลือกในการรับการบริการด้วยการโทร.เข้ามาสอบถามการขอเข้ารับบริการ การลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ออนไลน์ ตลอดการประเมินความเสี่ยงของผู้รับบริการด้วยตนเอง โดยใช้แอปพลิเคชั่นที่เป็นแชทบอทของกรมการแพทย์ (สบายดี bot)
สำหรับผู้ป่วยใน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ก่อนการกลับบ้าน จะมีการนัดหมาย โทร.ติดตามผู้ป่วย แทนการรับผู้ป่วยมารับการประเมินที่โรงพยาบาลตามปกติ
การฝึกอบรม ได้ยกเลิกกิจกรรมการศึกษาดูงานระยะสั้นในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปสำหรับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ได้จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางกายภาพ โดยการใช้ Application Zoom และ Webex
ในงานของทีมงานของบุคลากรแบ่งเป็น 6 ด้านใหญ่ ๆ คือ
- การเฝ้าระวังและคัดกรอง ประกอบไปด้วย พยาบาลคัดกรอง พยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อ ร่วมกับแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ
- การรักษา วิชาการ ประกอบไปด้วยทีมแพทย์โรคติดเชื้อ แพทย์ระบบทางเดินหายใจ และแพทย์วิสัญญี
- Logistics ประกอบไปด้วยรองอำนวยการ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ วางแผน support มีการประสานงานกับเครือข่ายที่รับบริจาคอุปกรณ์ป้องกัน ติดตั้งระบบถ่ายเทอากาศในห้องแยกที่เตรียมพร้อมสำหรับการใช้รับผู้ป่วยติดเชื้อ
- Laboratory testing เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
- Communication ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สรุปประเด็นการสื่อสารต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุมจากฝ่ายบริหาร และผู้ปฏิบัติงาน
- Strategic Technical Advisory Group มีกรรมการบริหาร และกรรมการวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้อำนวยการเป็นประธาน
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเป็นเงื่อนไขว่าเราจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรค และเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่ อยู่ที่ Mindset ที่หมายถึงกรอบความคิด หรือเลนส์ที่เราใช้มองโลก Mindset ที่มองเห็นว่าไม่ใช่วิกฤต หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราที่สำคัญ แต่เป็นการตอบสนองของเราต่อ สิ่งนั้น ๆ เป็นสิ่งสำคัญอย่างแท้จริง ร่วมกับการลงพื้นที่มี reflection ถอดบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละครั้งที่มีเคส ในเช้าวันถัดมาจะเข้าไปนั่งพูดคุยหารือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในหอผู้ป่วย และเปิดโอกาสให้เล่าถึงปัญหาอุปสรรคใด ๆ ในแง่ของการทำงาน ทำให้เห็นประเด็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง และนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นโจทย์ในการวางแผนป้องกัน และแก้ปัญหาในอนาคต(perception, comprehension and prediction)
Mindset ที่สำคัญ คือ ความเชื่อที่ว่า ทุก ๆ วิกฤต คือ โอกาสในการสร้างทีม และพัฒนาภาวะผู้นำ วิกฤต คือ โอกาสที่จะนำสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิตของเราออกมา เพราะในความยากลำบาก มีกุญแจที่จะไขไปสู่โอกาสอันยิ่งใหญ่ ดังนั้น ทีมนำที่ดี ต้องมีความฮึกเหิม เพราะไม่มีทัพใดชนะศึกได้ โดยปราศจากความกล้าหาญ บอกตัวเองให้ได้ว่า ใครทำไม่ทำไม่รู้ แต่เรานี่แหละที่จะทำ (Leader jump first) ปัญหาและอุปสรรคความขาดแคลนเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้ที่ทำงานด้านนี้ได้เรียนรู้ว่ากำลังใจอาจจะหาได้จากคนรอบข้าง แต่ความเข้มแข็งจะต้องสร้างจากตัวเราเอง การเริ่มทำงานจากตัวของเราเองก่อน จะช่วยให้ทุกอย่างค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะความเข้มแข็งจากภายใน จะเป็นกำลังใจให้คนภายนอก และช่วงเวลาแห่งวิกฤต คือ ช่วยเวลาแห่งการตัดสินใจ ตัดสินใจว่าเราจะวางใจอย่างไร และจะตอบสนองต่อวิกฤตอย่างไร ที่วันหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป เราจะสามารถมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง และมองไปข้างหลังอย่างภาคภูมิใจ