ผศ. พญ. อรศรี วิทวัสมงคล
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สรุปเนื้อหาจากงานประชุมใหญ่ประจำปี 2561 ครั้งที่ 22 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 6 พฤษภาคม 2561
การตรวจทางรังสีวิทยามีส่วนช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนดูแลรักษา ผู้ป่วยเด็กโรคติดเชื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเฉพาะที่ในอวัยวะต่าง ๆ กุมารแพทย์ควรทราบถึงข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจทางรังสีวิทยา และมีความรู้ในการอ่านภาพถ่ายรังสีเบื้องต้นเพื่อประกอบกับข้อมูลทางคลินิกในการดูแลรักษาผู้ป่วย
ข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจทางรังสีวิทยาของการติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ นั้นมีความแตกต่างกันไป สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบชุมชน (community acquired pneumonia) ที่อาการไม่รุนแรงและสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้นั้น โดยทั่วไปการถ่ายภาพรังสีปอดไม่มีความจำเป็น แต่ควรทำการถ่ายภาพรังสีปอดในกรณีที่อาการไม่ชัดเจน เป็นปอดอักเสบที่กลับเป็นซ้ำ ปอดอักเสบ ชุมชนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือได้รับการรักษาแบบผู้ป่วย นอกแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือทรุดลง สงสัยภาวะแทรกซ้อนของปอดอักเสบเป็นต้น ส่วนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT brain) ในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบนั้นไม่ได้แนะนำให้ทำโดยทั่วไป ควรทำในกรณีที่สงสัยว่า มีข้อห้ามของการเจาะน้ำไขสันหลัง ก่อนทำการเจาะน้ำไขสันหลัง เช่น มีก้อนในสมอง ภาวะเลือดออกในสมอง หรือมี focal neurologic deficit เป็นต้น นอกจากนี้อาจทำเพื่อหาการติดเชื้อบริเวณข้างเคียง เช่น mastoiditis หรือ sinusitis หรือสงสัยภาวะแทรกซ้อนของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น hydrocephalus, subdural effusion, empyema, infarction, infarction, brain abscess และ ventriculitis เป็นต้น สำหรับติดเชื้อฝีหนองในช่องท้องนั้น ส่วนใหญ่การตรวจด้วย ultrasonography สามารถช่วยวินิจฉัย โดยบอกตำแหน่งและขนาดของฝีได้ ในรายที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้โดย ultrasonography แนะนำให้ใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ การตรวจทางรังสีต่าง ๆ อาจมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป เช่น ภาพถ่ายทางรังสีปอดในผู้ป่วยปอดอักเสบระยะเริ่มแรกหรือมีภาวะขาดน้ำ อาจไม่พบความผิดปกติได้ ในผู้ป่วยกระดูกอักเสบจากการติดเชื้อจะเห็นความผิดปกติของกระดูกในภาพถ่ายทางรังสี (plain film) หลังจากเริ่มมีอาการแล้วประมาณ 10 ถึง 20 วันขึ้นไป การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะให้ความไวในการตรวจพบความผิดปกติที่กระดูกได้สูงถึง ร้อยละ 90 – 100 แต่ไม่มีใช้โดยทั่วไปและจำเป็นต้องดมยาสลบในผู้ป่วยเด็กเล็ก ดังนั้น หากสงสัยโรคกระดูกอักเสบจากการติดเชื้อจะต้องติดตามภาพถ่ายทางรังสีต่อไปเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย เนื่องจากมีผลต่อระยะเวลาในการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
ในเวชปฏิบัติ ลักษณะภาพถ่ายรังสีบางประการ มีความจำเพาะและอาจช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยทางคลินิกได้ เช่น ในผู้ป่วยที่สงสัยวัณโรคปอด อาจพบลักษณะต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดโต Ghon complex มี calcification ที่รอยโรค มีรอยโรค แบบ military หรือมีเนื้อปอดเป็นโพรงได้ หากพบลักษณะ segmental หรือ lobar atelectasis อาจเกิดจากต่อมน้ำเหลืองมากดทับ หรือเป็นรอยโรคในหลอดลม (endobronchial TB) ในกรณีที่สงสัยวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง หากพบลักษณะ hydrocephalus, basal meningeal enhancement, inferction หรือ tuberculoma ก็จะช่วยในการวินิจฉัย นอกจากนี้อาจพบภาพรังสีปอดผิดปกติร่วมด้วยได้ถึงร้อยละ 90
จากตัวอย่างเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า การได้ข้อมูลจากภาพถ่ายทางรังสีอย่างครอบคลุมและถูกต้อง เป็นประโยชน์อย่างมากในการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคติดเชื้อ ในทางปฏิบัติ ควรปรึกษารังสีแพทย์ควบคู่กันไป
เอกสารอ้างอิง
- Bradley J, Byington C, Shah S, Alverson B, Carter E, Harrison C et al, The Management of Community-Acquired Pheumonia in Infarts and Children Older Than 3 Months of Age: Clinical Practice Guidelines by the Pediatric Infectious Diseases Society and the Infectious Diseases Society of America. Clin Infect Dis, 2011 – 53(7): 25 – 76.
- Gutierrez K. Bone and joint infectious in children. Pediatr Clin North aM. 2005; 52(3): 779-94.
- Cruz. AT, Starke JR. Clinical manifestations of tuberculosis in chidren. Paediatr Respir Rev. 2007; 8(2): 107 – 17.