CIMjournal
การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีที่ผิดพลาด

การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีที่ผิดพลาด (Misdiagnosis of HIV Infection)


นพ. ธนา ขอเจริญพรรศ. นพ. ธนา ขอเจริญพร
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สรุปเนื้อหาจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ครั้งที่ 17 จัดโดย สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย วันที่ 14 กันยายน 2561

 

การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันอาศัยการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นหลัก ชุดการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยชุดการตรวจรุ่นใหม่สามารถตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีได้เร็วขึ้นหรือมีระยะ window period ซึ่งเป็นระยะเวลาตั้งแต่รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งสามารถตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีในเลือดสั้นลง ชุดการตรวจการติดเชื้อรุ่นแรกสามารถตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อได้ประมาณ 50 วันหลังได้รับเชื้อ ในขณะที่ชุดการตรวจรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด และผนวกการตรวจหาแอนติเจน P24 เข้าไปด้วยนั้น สามารถตรวจพบการติดเชื้อตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ การตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีที่รวดเร็วขึ้นนี้ มีประโยชน์ในการทราบสถานะการติดเชื้อของผู้ที่มีความเสี่ยงแต่เนิ่น ๆ ลดระยะเวลาที่ผู้ตรวจมีความวิตกกังวลระหว่างการรอผลตรวจ นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี

การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีที่ผิดพลาดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีในผู้เข้ารับการตรวจทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้ติดเชื้อและการวินิจฉัยว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวีทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงติดเชื้อเอชไอวี การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีที่ผิดพลาดนี้เกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดผลการตรวจที่เป็นผลบวกลวง และผลลบลวง โดยปัจจัยดังกล่าวอาจมาจากตัวผู้เข้ารับการตรวจเลือด จนไปถึงขั้นตอนการดำเนินการตรวจและรายงานผลการตรวจ


ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลบวกลวง (False positivity)

ปัจจัยจากผู้รับการตรวจเลือด
ผู้รับการตรวจเลือดบางรายมีแอนติบอดีบางชนิดในเลือดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีทำให้เกิดปฏิกิริยากับชุดตรวจได้ผลบวก (cross reactivity) ดังแสดงในตาราง1-3 โดยแอนติบอดีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นและสัมพันธ์กับภาวะหรือโรคบางชนิด เช่น การได้รับ immunoglobulin มาก่อน การได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในงานวิจัย การได้รับเลือดบ่อยครั้ง autoimmune disease และ hypergammaglobulinemia เป็นต้น1-4 โรคบางชนิดทำให้ผลการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีเป็นผลบวกลวงได้โดยยังไม่ทราบกลไกที่ชัดเจน ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดมาลาเรีย โรคติดเชื้อไมโคแบคทีเรียบางชนิด โรคไตวายเรื้อรัง และโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น (ตาราง) หญิงที่มีการตั้งครรภ์หลายครั้ง อาจมีผลเลือดเป็นผลบวกลวงได้ เนื่องจากมีแอนติเจนบางชนิดที่รกซึ่งมีรูปร่างคล้ายแอนติเจนของเชื้อเอชไอวีและกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีที่เหมือนกันได้ รายละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดผลบวกลวงในผู้รับการตรวจเลือดได้แสดงไว้ในตาราง

ตารางแสดงปัจจัยที่มีผลให้การตรวจการติดเชื้อเอชไอวีเป็นผลบวกลวง (False positivity)Misdiagnosis of HIV Infection


ปัจจัยจากขั้นตอนการตรวจเลือดและการแปลผล
ผลบวกลวงเกิดขึ้นได้กรณีที่มีการปะปนกันของตัวอย่างเลือดระหว่างผู้ที่ติดเชื้อและผู้ที่ไม่ติดเชื้อการติดชื่อตัวอย่างเลือดไม่ตรงกับเจ้าของเลือด การที่ตัวอย่างเลือดสัมผัสกับความร้อนที่สูงจนเกินไปและการปนเปื้อน ethylene glycol ของตัวอย่างเลือด1


ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลลบลวง (False negativity)

ปัจจัยจากผู้รับการตรวจเลือด
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ การตรวจเลือดในช่วง window period หรือช่วงเวลาที่สารบ่งการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสารพันธุกรรม แอนติเจน หรือแอนติบอดีของเชื้อเอชไอวียังไม่สามารถตรวจพบได้จากชุดการตรวจ แม้ว่าจะมีการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วนอกจากนี้ ยังมีภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้ระดับแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีลดต่ำลงจนไม่สามารถตรวจพบได้ ได้แก่ การติดเชื้อเอชไอวีในระยะหลังซึ่งระดับภูมิคุ้มกันตกลงอย่างมาก การได้รับยาต้านไวรัสเร็วมากหลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีการกดเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็ว หรือการได้รับยาต้านไวรัสเพื่อกดเชื้อไวรัสมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีในระดับที่ต่ำกว่าปกติโรคหรือภาวะที่มีผลทำให้ระดับแอนติบอดีในเลือดโดยรวมต่ำลง ได้แก่ โรคมะเร็ง Common variable immunodeficiency หรือการได้รับยาเคมีบำบัดและการได้รับการถ่ายเลือดจำนวนมาก (Extensive transfusion)1

ปัจจัยจากขั้นตอนการตรวจเลือดและการแปลผล
ผลลบลวงเกิดขึ้นได้กรณีที่มีการปะปนกันของตัวอย่างเลือดระหว่างผู้ติดเชื้อและผู้ที่ไม่ติดเชื้อ การติดชื่อตัวอย่างเลือดไม่ตรงกับเจ้าของเลือด และการเก็บหรือขนส่งตัวอย่างเลือดที่ไม่เหมาะสมก่อนการตรวจ1


การป้องกันการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีที่ผิดพลาด

  1. การแปลผลการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีควรคำนึงถึงความเสี่ยงของการได้รับเชื้อเอชไอวี ช่วงเวลาที่ได้รับเชื้อ ปัจจัยต่าง ๆ ในผู้เข้ารับการตรวจเลือดและปัจจัยอื่น ๆ ในขั้นตอนการตรวจเลือดที่อาจมีผลทำให้เกิดผลบวกลวงและผลลบลวงตามที่กล่าวมาข้างต้น
  2. การตรวจการติดเชื้อเอชไอวีควรทำการตรวจจากตัวอย่างเลือดอย่างน้อย 2 ตัวอย่างจากผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อป้องกันการวินิจฉัยที่ผิดพลาดจากการปะปนกันของตัวอย่างเลือด หรือการติดชื่อตัวอย่างเลือดไม่ตรงกับเจ้าของเลือด
  3. ในการตรวจตัวอย่างเลือดแต่ละตัวอย่างต้องทำการตรวจโดยใช้วิธีการตรวจที่ต่างกัน 3 วิธี และจะสรุปผลเลือดตัวอย่างว่ามีการติดเชื้อได้ต่อเมื่อการตรวจทั้ง 3 วิธีให้ผลบวกเหมือนกันหมด โดยการตรวจวิธีแรกเป็นการตรวจคัดกรองที่มีความไวและความจำเพาะที่สูงมาก หากผลการตรวจด้วยวิธีแรกให้ผลเป็นบวก แต่การตรวจอีก 2 วิธีให้ผลเป็นลบ ให้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดผลบวกลวง นอกจากนี้ ผลที่ไม่สอดคล้องกันดังกล่าวอาจเกิดจากการตรวจในระยะแรกซึ่งผู้เข้ารับการตรวจเพิ่งได้รับเชื้อมา ควรทำการตรวจติดตามซ้ำในระยะเวลา 1 – 3 เดือน หากผู้เข้ารับการตรวจมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อเอชไอวี
  4. ในผู้เข้ารับการตรวจเลือดซึ่งสงสัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีเฉียบพลัน (Acute retroviral syndrome) การตรวจคัดกรองด้วยชุดการตรวจรุ่นที่ 4 อาจให้ผลเป็นลบ หรือให้ผลบวกแต่การตรวจยืนยันอีก 2 วิธีให้ผลลบ ควรทำการยืนยันการติดเชื้อต่อด้วยการตรวจสารพันธุกรรมของเอชไอวีในเลือดหรือตรวจการติดเชื้อเอชไอวีซ้ำในอีก 1 เดือน
  5. เพื่อลดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการเก็บ นำส่งและตรวจตัวอย่างเลือด ตลอดจนการแปลและแจ้งผลการตรวจ บุคลากรที่เกี่ยวข้องควรได้รับการอบรมการปฏิบัติตามแนวทางและกำกับดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญในขณะที่ห้องปฏิบัติการควรได้รับการตรวจประเมินคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Dewar R, et al. Diagnosis of human immunodeficiency virus infection. In: Mandell GI, Douglas RG, Bennett JE, eds.Principles and Practice of Infectious Diseases 17th edition.
  2. Gill MJ, Rachlis A, Anand C. Five cases of erroneously diagnosed HIV infection. CMAJ 1991; 145: 1593 – 5.
  3. Healey DS, Bolton WV. Apparent HIV-1 glycoprotein reactivity on western blot in uninfected blood donors. AIDS 1993;7:655 – 8.
  4. Esteva MH, Blasini AM, Ogly D, Rodríguez MA. False positive results for antibody to HIV in two men with systemic lupus erythematosus. Ann Rheum Dis 1992; 51: 1071 – 3.

 

 

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก