CIMjournal
banner เชื้อโรคทั่วไป

Mycoplasma pneumoniae


ผศ. พญ. พรอำภา บรรจงมณี
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สรุปเนื้อหาจากงานประชุมการอบรมระยะสั้นจัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560

 

บทนำ

เชื้อ Mycoplasma pneumoniae สามารถก่อโรคในระบบทางหายใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มักหายได้เองมีเพียงส่วนน้อยที่อาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถก่อโรคในระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบโลหิต ปัจจุบันมีรายงานเชื้อ M. pneumonia ดื้อยากลุ่ม macrolides เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม โดยบทความนี้ขอกล่าวถึงประเด็นที่สำคัญของการติดเชื้อ M. pneumoniae ในเด็กเพื่อให้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป นำไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง


พยาธิกำเนิดและเชื้อก่อโรค

เชื้อ M. pneumoniae เป็นแบคทีเรียที่มีขนาดเล็กที่สุด ไม่มีผนังเซลล์ รูปร่าง pleomorphic ติดต่อโดยการสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป เชื้อสร้างสารพิษชื่อ Community Acquired Respiratory Distress Syndrome (CARDS) ทำให้เชื้อเกาะอยู่ในระบบทางเดินหายใจและก่อโรคได้ ส่วนอาการแสดงนอกปอดอาจเกิดจากการติดเชื้อโดยตรง หรือการตอบสนองทางระบบภูมิกันที่ผิดปกติ


ระบาดวิทยา

การติดเชื้อ M. pneumoniae พบได้ทั่วโลก และเกิดตลอดทั้งปี มักก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเป็นสาเหตุของปอดอักเสบชุมชน (Community- Acquired Pneumonia, CAP) ในเด็กโตและผู้ใหญ่ร้อยละ 7 ถึง 40 แต่พบน้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ มีรายงานการระบาดในค่ายทหาร โรงพยาบาล โรงเรียน และค่ายพักแรม พบว่า ร้อยละ 14.3 ในเด็กไทยอายุ 2 ถึง 15 ปีที่ป่วยเป็น CAP เกิดจากเชื้อ M. pneumoniae


อาการและอาการแสดง

มักก่อโรคระบบทางเดินหายใจ เด็กเล็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ส่วนน้อยจะมีน้ำมูก เจ็บคอ หูชั้นกลางอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบได้ สำหรับเด็กโตและวัยรุ่นจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ อาการจะคล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสอื่น ๆ อาการในเด็กมักไม่รุนแรงและหายเองได้ ร้อยละ 10 ของเด็กโตที่ติดเชื้อ M. pneumoniae จะเกิดปอดอักเสบตามมา และร้อยละ 10 จะมีผื่นร่วมด้วยและมักเป็นชนิด maculopapular การตรวจทางรังสีทรวงอกพบได้หลายรูปแบบ เช่น มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดโต bilateral diffuse infiltration หรือ focal consolidation มักเป็นที่ปอดส่วนล่าง และกระตุ้นให้อาการหอบกำเริบในผู้ป่วยโรคหอบหืด1

มีการศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างอาการแสดง ความรุนแรงของปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และทางรังสีวิทยาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ M. pneumonia ที่ดื้อและไม่ดื้อยากลุ่ม macrolides พบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน แต่กลุ่มที่ดื้อยาจะมีไข้นานกว่านอนโรงพยาบาลนานกว่า และให้ยาปฏิชีวนะนานกว่ากลุ่มที่ไม่ดื้อยา2 นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถก่อโรคในระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบโลหิต เป็นต้น (ตารางที่ 1) 


การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  1. การเพาะเชื้อ เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการเพาะเชื้อค่อนข้างนาน และความไวของการตรวจค่อนข้างต่ำจึงไม่เป็นที่นิยม
  2. การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา ปัจจุบันนิยมตรวจโดยวิธี EIA หรือ IFA เพราะสะดวก ทราบผลเร็ว และมีการพัฒนาเป็นชุดตรวจชนิดรวดเร็ว เช่น rapid EIA card และ Immunocard IgM test ทำให้สะดวกยิ่งขึ้น
  3. การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ โดยวิธีการ PCR ทราบผลได้รวดเร็ว มีความไว ความจำเพาะสูงในสิ่งส่งตรวจจากคอ หรือช่องจมูก หากเป็นสิ่งส่งตรวจอื่น ยังมีข้อจำกัด

ตารางที่ 1 อาการแสดงนอกปอดจากการติดเชื้อ M. pneumoniae
ดัดแปลงจากเอกสารอ้างอิงหมายเลขที่ 3


การรักษา

ยาที่แนะนำให้ใช้ในการรักษาปอดอักเสบจากเชื้อ M. pneumoniae คือ ยากลุ่ม macrolides และ tetracyclines แต่ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้กลุ่ม tetracyclines ขนาดยาที่ใช้ในการรักษา คือ erythromycin 40 ถึง 50 มก./กก./วัน แบ่ง 4 ครั้ง นาน 10 วัน หรือ clarithromycin 15 มก./กก./วัน แบ่ง 2 ครั้ง นาน 10 วัน หรือ azithromycin 10 มก./กก./วัน ในวันแรกและต่อด้วย 5 มก./กก./วัน นาน 4 วัน ซึ่งผลการรักษาในยากลุ่ม macrolides แต่ละตัวไม่แตกต่าง สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ยาที่แนะนำคือ erythromycin หรือ tetracycline ขนาด 2 ก./วัน แบ่ง 4 ครั้ง หรือ doxycycline 200 มก./วัน แบ่ง 2 ครั้ง นาน 10 วัน หรือ azithromycin ขนาด 1 ก./วัน ในวันแรกต่อด้วย 500 มก. นาน 4 วัน หรือ clarithromycin 1 ก./วัน แบ่ง 2 ครั้ง นาน 10 วัน
ปัจจุบันมีรายงานเชื้อ M. pneumonia ดื้อยากลุ่ม macrolides เพิ่มมากขึ้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ domain V ของ 23S rRNA ยาที่แนะนำในการรักษา M. pneumonia ที่ดื้อยาคือ doxycycline, tetracycline หรือ levofloxacin การให้ยาปฏิชีวนะอาจไม่มีความจำเป็นในโรคหูอักเสบ คอหอยอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบที่เกิดจากเชื้อ M. pneumoniae เนื่องจากอาการมักไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ 


การป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ M. pneumoniae และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตลอดช่วงที่มีอาการ ดังนั้น หลักในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คือ standard และ droplet precaution ส่งเสริมการล้างมือเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้แก่ผู้อื่น

 

เอกสารอ้างอิง

  1. American academy of pediatrics. Mycoplasma pneumniae and other Mycoplasma species infections. In: Kimberlin DW, Brady MT, Jackson MA, Long SS, eds. Red book 2015 report of the committee on infectious diseases. 30th ed. Elk Grove Village 2015. p. 568-71.
  2. Pereyre S, Goret Julien, Bebear Cecile. Mycoplasma pneumoniae: current knowledge on macrolide resistance and treatment. Front Microbiol 2016;7:974
  3. Shah SS. Mycoplasma pneumoniae. In: Long SS, Pickering LK, Prober CG, eds. Principles and Practice of Pediatric – Infectious Diseases, 4thed. Philadelphia: Elsevier Inc; 2012. p.993-7e5.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก