CIMjournal
นพ. วิชัย อิทธิชัยกุลฑล

อาจารย์ นพ. วิชัย อิทธิชัยกุลฑล สาขาวิสัญญีวิทยา


“ต้องมีความซื่อสัตย์ ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และการกระทำ”

ศ. นพ. วิชัย อิทธิชัยกุลฑล
นายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย
อดีตหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
อดีตประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 90 ปี 2564


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาวิสัญญีวิทยา

เรียนมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เริ่มต้นสนใจเกี่ยวกับทางเศรษฐศาสตร์มากกว่า ชอบวิชาคณิตศาสตร์ แต่พอถึงเวลาก็เลือกตามคะแนนและกลุ่มเพื่อน เขาเลือกเรียนแพทย์กัน จึงเลือกเรียนแพทย์เอนทรานซ์ติดที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ตอนเรียนได้เข้าชมรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยออกไปทำงานชุมชนบ้าง ไปดูโรงพยาบาลต่างจังหวัดบ้าง พอเรียนจบไปใช้ทุนที่ โรงพยาบาลชุมชนที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น 2 ปี ตอนทำงานใช้ทุน ต้องทำผ่าตัดทำหัตถการต่าง ๆ ผมมีแต่ความรู้ภาคทฤษฎี ไม่เคยมีประสบการณ์ทำด้วยตนเอง ต้องอาศัยรุ่นพี่ที่นั่นสอน สอนผ่าตัดไส้ติ่งบ้าง ผ่าตัดท้องคลอดบ้าง ในสมัยนั้นคนไข้ส่วนใหญ่มาจากที่ไกล ๆ ผู้ป่วยหลายรายเราอยากจะส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด แต่คนไข้กับญาติไม่อยากไป เพราะไปแล้วค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นก็ต้องรักษาให้ถึงที่สุด บางทีก่อนผ่าตัดต้องเปิดตำราศึกษาไปด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งพยายามผ่าตัดแล้ว แต่เกินความสามารถ จึงต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดทั้งที่ยังไม่ได้ปิดแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง รุ่นพี่ก็เข้าใจว่าเราทำเต็มความสามารถแล้ว จากจุดนี้ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า ความรู้เรามีไม่พอที่จะไปดูแลรักษาคนไข้จึงอยากกลับมาเรียนต่อตอนนั้นอยากเรียนศัลยกรรม แต่ด้วยปัญหาทางสายตาและมือไม่นิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัดในการเรียนด้านศัลยกรรม เพื่อนบอกว่าผมเก่งด้านเด็ก จึงคิดจะมาเรียนด้านเด็ก แต่ที่โรงพยาบาลไม่มีทุนจึงมาสมัครแบบอิสระหลายที่แต่ก็ไม่ได้ ตอนที่กลับมาสมัครเรียนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้พบกับศ.เกียรติคุณ พญ. สมศรี เผ่าสวัสดิ์ อาจารย์ท่านได้ชักชวนให้เรียนวิสัญญี อาจารย์บอกว่าสมัยก่อนอาจารย์ก็เรียนเด็กมาเหมือนกัน เลยตัดสินใจมาเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาวิสัญญีวิทยาที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์สมศรีท่านไม่ได้สอนแค่เรื่องวิชาการ แต่ยังสอนเรื่องการดำเนินชีวิตทั่วไป อาจารย์สอนว่าการเป็นวิสัญญีแพทย์จะต้องเป็นผู้นำ เป็นผู้ให้ยาสลบก่อน เพื่อให้แพทย์อื่นทำผ่าตัดได้ ในสมัยก่อนผมมองว่างานวิสัญญีเป็นงานเบื้องหลังคนไข้และญาติจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญ คนจะมองว่าเหมือนปิดทองหลังพระ แต่ในความเป็นจริง ในแต่ละอาชีพจะมีความสำคัญของตนเอง ในการดมยา ถ้าเราทำหน้าให้ดีแล้ว แพทย์ที่ทำผ่าตัดก็สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น สุดท้ายผู้ป่วยก็จะได้รับความปลอดภัย อย่าคิดว่าเป็นการปิดทองหลังพระ ผมได้บรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อมาเป็นอาจารย์แพทย์ต้องทำหน้าที่บทบาทของครู คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่างน้อยต้องมีความรู้เพิ่มเติม อาจารย์สมศรีจึงให้ไปเป็น clinical fellowship ที่ University of Kentucky Department of Anesthesiology ประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ปี จากนั้นกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมาตลอด ในปี พ.ศ. 2553 ผมได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา และในปี พ.ศ. 2558 ได้เป็นประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาของภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

ความภูมิใจแรก ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นแพทย์ผู้ติดตาม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ความภูมิใจที่สองได้เป็นอาจารย์แพทย์ สามารถสอนแพทย์ให้ทำประโยชน์กับสังคม ทุกวันนี้ยังพยายามที่จะศึกษาและสอนให้กับแพทย์รุ่นน้องทั้งหลาย เพื่อให้เขาเหล่านั้นบรรลุความต้องการและทำประโยชน์กับสังคมต่อไป

ความภูมิใจที่สาม คือ การได้มีส่วนร่วมในการบริหารหน่วยงาน ได้ช่วยเหลือองค์กรวิชาชีพที่ทำอยู่ ให้เกิดการพัฒนาในสิ่งที่ดีมากขึ้น และหลาย ๆ งานได้สานในสิ่งที่อยากจะทำจนสำเร็จ เช่น จากการเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ได้ทำงานบริหารจากหน่วยเล็กในระดับองค์กร จนถึงได้ทำงานในระดับประเทศด้วยการเป็นประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งใน 2 ปีที่เป็นประธานราชวิทยาลัยฯ พยายามทำในสิ่งที่มีประโยชน์ในสังคมของวิสัญญีของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา ได้ปรับปรุงมาตรฐานของการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อให้แพทย์ที่จบออกไปมีความรู้ทั้งทางด้านวิสัญญีวิทยา และด้าน non-technical skillsเช่น การสื่อสารกับผู้ป่วย การทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการงานที่สำคัญ เป็นต้น เพื่อให้การบริการสาธารณสุขของเราได้พัฒนาต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อใจของประชาชนทั่วไป ตลอดจนการร่วมวางแผนกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการกระจายของวิสัญญีแพทย์ไปทั่วทั้งประเทศ ปัจจุบันผมเป็นนายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย จะเน้นเรื่องของความปวด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตของคน โดยจะเน้นในเรื่องการให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดการความปวดให้กับประชาชนได้ทั่วถึง ให้แพทย์ของเราสามารถบำบัดความปวดได้ถูกต้อง ในแง่ที่ว่าเขามีความรู้ที่ทันสมัย เรื่องของการใช้ยา รวมถึงหัตถการการบำบัดความปวดให้คนไทยได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับเศรษฐฐานะที่ดียิ่งขึ้นไป


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ปัจจัยที่ 1 การมองโลกในแง่ดี คนเราต้องมองโลกในแง่ดี ทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้องและเต็มที่ มีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่นั้น ช่วยเหลือใครได้ให้ช่วย อย่าไปมองข้อเสียของคนอื่น แต่ให้มองข้อดีของคนอื่น ตลอดจนต้องซื่อสัตย์ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะอาชีพแพทย์ ถ้าไม่ทำและบอกว่าทำก็ไม่มีใครรู้ ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อการกระทำ ให้เกียรติผู้อื่น และที่สำคัญยิ่ง คือ ต้องมีความกตัญญู ทดแทนคุณ ผมเชื่อว่า ถ้าเราเป็นคนรู้จักบุญคุณผู้อื่น ยามที่เราลำบากเราก็จะได้รับความช่วยเหลือเช่นกัน

ปัจจัยที่ 2 ในการทำงานให้สำเร็จ ผมจะนึกถึงหลักทางพุทธศาสนา คือ อิทธิบาท 4 และอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบคล้ายกับ ปัญหาคืออะไร สาเหตุของปัญหาคืออะไร วิธีแก้ปัญหาอย่างไร และจะทำอย่างไรให้สำเร็จ ส่วนอิทธิบาท 4 คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ฉันทะ คือ มีใจจดจ่อกับงานนั้น รู้ว่ามีปัญหาแล้ว ตั้งใจที่จะเอาไปทำ มีวิริยะ จิตตะ มีความตั้งใจ มีความขยัน มีวิมังสา พิจารณาใคร่ครวญเข้าไปทำในส่วนนั้นให้สำเร็จ นั่นคือ อริยสัจ 4 กับอิทธิบาท 4 รวมกัน งานทุกอย่างจะสำเร็จ

ปัจจัยสุดท้าย คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าที่เขามาคุยกับเรา เขาอยากได้อะไร สังคมเขาอยากได้อะไร อย่าไปคิดว่าเขาเป็นอย่างนั้น เขาเป็นอย่างนี้ นี่เป็นบทเรียนที่ดีว่า ในการทำอะไรก็ตาม ให้มองหลายความเห็น อย่าเอาตนเองเข้าไปตัดสิน เห็นว่าแบบนี้ดี แต่ไม่ถูกใจเขา สิ่งที่ควรทำคืออะไรที่จะทำให้คนไข้ได้ในสิ่งที่ดี สิ่งที่เขาพอใจ ไม่ใช่ทำให้เราพอใจหรือไม่พอใจ


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

ส่วนใหญ่อุปสรรคในการทำงานที่พบ จะเป็นเรื่องของข้อมูล และการวิเคราะห์ปัญหาว่า ตรงนี้มันคืออะไรและพยายามจะหาทางออกได้อย่างไร มีผู้ใดสามารถทำได้บ้าง และแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เช่น มีครั้งหนึ่งในเรื่องของการผ่าตัดสมอง ซึ่งการผ่าตัดสมองส่วนนั้นจะกระทบกับสมองส่วนที่ไปควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น สมองที่ควบคุมการพูด การขยับตัว ศัลยแพทย์ต้องการให้ผู้ป่วยตื่นขณะทำการผ่าตัดอยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าการผ่าตัดไม่กระทบกระเทือนสมองที่ควบคุมร่างกายส่วนนั้น นั่นเป็น การวางยาสลบ โดยให้คนไข้ตื่นระหว่างทำการผ่าตัด และคนไข้จะต้องไม่รู้สึกเจ็บ หรือปวดจากการผ่าตัด ซึ่งถือว่าเป็นการวางยาสลบครั้งแรกที่คนไข้ตื่น สมัยนั้นข้อมูลยังไม่ค่อยมี ผมต้องค้นคว้าและศึกษาจากหลาย ๆ แห่งว่าจะเริ่มอย่างไร ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำการวางยาสลบแบบ awake craniotomy ปัจจุบันมีวิสัญญีแพทย์ทำกันมากขึ้น เทคนิคเริ่มเปลี่ยนไป อย่างที่เล่ามาผมไม่ใช่เป็นคนเก่ง แต่ผมคิดว่าผมยอมรับกับความคิดของผู้อื่น ให้คนอื่นมาช่วยกันออกไอเดีย และมาช่วยกันตัดสินใจ อันนี้น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อผมต้องมาทำงานบริหาร ผมพบว่า การเป็นแพทย์ พอจะมาทำงานบริหาร อาจทำได้ไม่ค่อยดี แต่ถ้าจะให้คนอื่นมาบริหารแพทย์ ผมว่าเขาก็ไม่เข้าใจบทบาทของแพทย์เหมือนกัน พอจะมาบริหารกันเอง ก็ไม่รู้หลักการบริหาร เป็นที่มาว่า การที่จะเป็นผู้บริหารได้ต้องไปเรียนรู้หลักการบริหารก่อน เช่น ไปเรียนปริญญาโทหรือต้องมีหลักสูตรที่จำเป็น ค่อย ๆ ทำไป เรียนรู้กันไป ส่วนหนึ่งปรึกษาผู้ใหญ่ ผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

ในสมัยเด็ก ๆ บางทีด้วยความสนุก เอามดมาเล่นบ้าง ฆ่ามดบ้าง ไปตกปลาบ้าง ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากทำในสิ่งเหล่านี้ สมัยนั้นถ้ารู้ว่าเป็นชีวิตเขา คงไม่อยากไปทำอีก หรือไม่ไปขโมยเงินแม่ไปซื้อขนม

ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ ผมอยากกลับไปแก้เรื่องระบบการเรียนการสอน ผมคิดว่าการสอนเรื่องของความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ สอนอย่างไรก็สอนไม่หมด แต่ควรสอนวิธีแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การกลั่นกรองความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยเฉพาะในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวไกล การหาความรู้เพิ่มได้เพียงปลายนิ้ว นอกจากนี้ต้องสอนเรื่องของความมีวินัย ความซื่อสัตย์ ซึ่งตรงนี้สำคัญ ถ้าเราสอนให้เขามีวินัย มีความซื่อสัตย์ได้ เขาจะเป็นคนดี ไปทำประโยชน์ได้อีกมาก ส่วนความรู้ก็ไปหาเพิ่มเติมได้ ปัจจุบันในการสอนวิชาชีพแพทย์ที่ผมภูมิใจอย่างหนึ่ง คือ มีการเปลี่ยนหลักสูตรการสอนแพทย์ นอกจากวิชาการ จะสอนเรื่องของจริยธรรม สอนเรื่องของการเจอปัญหา การแก้ไขปัญหา การพูดคุยกับคนไข้ สิ่งเหล่านี้นอกจาก ไอ คิว (I.Q) ยังเป็นเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) ด้วย รวมถึง ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรม (M.Q.) เป็นสิ่งที่ในส่วนของวิสัญญีจะพยายามเพิ่มเติมเข้าไปให้ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะให้สอนตั้งแต่เด็กว่า ทำอย่างไรให้เด็กมีวินัย มีความซื่อสัตย์ ซึ่งผมว่าสำคัญกว่าที่จะมาเรียนพิเศษ


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรกเลยคือ คุณพ่อ ท่านมาจากประเทศจีน เป็นต้นแบบในเรื่องของความอดทน ความซื่อสัตย์ ท่านทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาอย่างสูงสุด พอเหมือนจะเกเร แต่พอเห็นพ่อเขาลำบาก รู้สึกว่าอยากจะทำตามสิ่งที่เขาคาดหวังเอาไว

คนที่สอง ศ.เกียรติคุณ พญ. สมศรี เผ่าสวัสดิ์ เป็นต้นแบบของวิสัญญีแพทย์ เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาท ท่านเป็นปราชญ์ รู้ และเก่งรอบด้านมองและรู้ทันทีว่าใครเป็นอย่างไร ท่านให้ทุกอย่างท่านไม่ได้สอนในวิชาการอย่างเดียว ส่วนที่ผมได้จากท่านมากกว่าวิชาการ คือการใช้ชีวิต มีวิธีแนวคิดอย่างไร มีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อมีคนไปปรึกษาท่าน ท่านแก้ไขได้หมด มีสารพัดวิธีที่สามารถจะทำได้ อาจารย์ท่านไม่เคยลงโทษใคร ท่านจะหัวเราะ และบอกว่าวิชัย ไม่เคยทำผิดบ้างเหรอ และพอกลับไปคิด เราก็มีสิ่งผิด อาจารย์สมศรีสอนให้มองในสิ่งที่ดีของคน อย่าไปมองในสิ่งไม่ดี ท่านว่าเราทำให้เขา เดี๋ยวเขาจะให้เรามากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องจริง อาจารย์ท่านเป็นคนมองโลกในแง่ดี

คนที่สาม คือ คนไข้ ผมเรียนรู้จากคนไข้ที่มารับการรักษา นอกจากเรื่องของโรค ก็เป็นเรื่องของชีวิตเขาว่าเขามีความทุกข์อะไร และแก้ปัญหากันอย่างไร เรียนรู้ไปกับคนไข้ ถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ที่มาช่วยสอนสอนวิธีคิด บางครั้งเราอาจตัดสินใจผิดพลาด ให้การดูแลผู้ป่วยได้ไม่มีประสิทธิภาพพอไม่ใช่ ก็นำประเด็นปัญหา ข้อผิดพลาดมาพูดคุยกัน เป็นการเรียนรู้ร่วมกันนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดจากคนไข้ที่เราเรียนรู้ แต่อย่าให้เกิดบ่อย


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

การมองโลกในแง่ดี มีหลักธรรมะเข้ามาอยู่ในใจ ทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก (สมเด็จพระบิดา) ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สองประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

การแพทย์เมืองไทยผมมอง 2 ด้าน คือด้านบน กับด้านล่าง ด้านล่าง ผมว่าในขณะนี้ดีมาก คือการกระจายระบบสาธารณสุขของบ้านเรา ถือว่าลงไปในส่วนของท้องถิ่น เรามี อสม. เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ดี แต่อีกด้านอยากให้มองในส่วนบนด้วย อย่าไปมองถึงเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นหลักอย่างเรื่องค่ายากับค่าอุปกรณ์ที่แพง บางทีก็จำเป็นต้องใช้ เพื่อความก้าวให้ทันกับโลก ไม่อย่างนั้นเราจะล้าหลัง จะไม่ทันเขา เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องมาช่วยกัน ยกตัวอย่างของวิสัญญีเอง ต้องมองว่าจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร จะดมยาให้ยาระงับความรู้สึกด้วยเทคนิคต่าง ๆ ที่ดีขึ้นได้อย่างไร มีอะไรบ้างที่จะมาทำให้ดีขึ้น การที่ประเทศไทยจะเป็น Medical Hub ให้ต่างประเทศนำเงินเข้ามารักษาในประเทศ เราต้องมีความเป็นผู้นำด้วย คือ ต้องมองให้พัฒนาไปพร้อมกันทั้ง 2 ด้าน ข้างบนต้องเล่น ข้างล่างก็ต้องไปด้วย

ทิศทางในอนาคต ทางการแพทย์ของเราสมัยหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น สูติศาสตร์ เคยคิดว่า พอคลอดเสร็จแม่และเด็กปลอดภัยก็จบ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่ กลายเป็นว่า เป็นเรื่องของพันธุกรรม การทำผสมเทียม การรักษามีบุตรยาก มีการนำตัวอ่อนมาเลี้ยง ความรู้เหล่านี้ ถ้าไม่สนใจจะตามไม่ทัน ยิ่งผมอยู่โรงเรียนแพทย์เป็นอาจารย์แพทย์ ต้องยอมรับว่าบางอย่างอ่านไม่ทัน แม้แต่ในวิชาวิสัญญี ปัจจุบันไปไกลมาก ต้องอ่านให้ทัน การเรียนรู้ของการแพทย์ ถ้าไม่อัปเดตตนเอง เราจะล้าหลัง เพราะฉะนั้น พื้นฐานก็ต้องมีให้ดีส่วนความรู้อย่างอื่นก็ต้องค้นหาพัฒนา ไม่อย่างนั้นจะล้าหลังจริง ๆ


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

ปัจจุบัน คนที่มาเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ ต้องมีพื้นฐานของความเอื้ออาทรเห็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหลักบางครั้งเมื่อทำการรักษาด้วยความตั้งใจดี แต่ถูกฟ้องร้องทำให้แพทย์หลาย ๆ คนไม่อยากที่จะมาทำผ่าตัดรักษาผู้ป่วย คือ ทำไมต้องมาเสี่ยง ทำให้คนไม่อยากมาเรียน ซึ่งตรงนี้ก็น่าเห็นใจกับคนที่มาทำงานเป็นแพทย์ความผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่การเยียวยาผู้ป่วยมันมีในระบบการเยียวยาอยู่คนเชื่อว่าถ้าทำแบบตรงไปตรงมาด้วยเจตนาดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยคุ้มครองได้ ผมอยากให้แพทย์ศึกษาหาความรู้ใส่ตัว และทำงานด้วยสติที่ดี ทำอย่างเต็มความสามารถ ถึงแม้บางครั้งผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามที่คิด ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ สิ่งเหล่านี้มีทางออกไม่อยากให้แพทย์ต้องมากังวลและเสียความตั้งใจในการทำความดี

สำหรับแพทย์ในสาขาวิสัญญีวิทยา ต้องมองตัวเองให้ออกว่าอยากจะทำอะไรให้สำเร็จในชีวิตของเรา แล้วมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ต้องการ เช่น แพทย์บางคน อาจต้องการทำงานบริการ ก็ควรจะไปทำงานในโรงพยาบาลเพื่อสามารถดมยาให้ผู้ป่วยได้จำนวนมาก หรือบางคนมีความต้องการหารายได้ก็ควรไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนโดยตรงหรือบางคนต้องการเป็นอาจารย์ ก็มุ่งมั่นในการเรียนการสอน ผมมีอาจารย์แพทย์ตัวอย่าง เขาจะสอนอย่างเดียวไม่สนใจเรื่องอื่น เพราะฉะนั้นเรื่องความภูมิใจของเขาคือ ได้สอนนักเรียนให้ได้ความรู้ที่ดี บางคนชอบงานวิจัย ก็ไปทำงานวิจัย ในชีวิตเราอาจมีความต้องการได้หลายด้านเราสามารถสวมหมวกได้หลายใบ แต่เราต้องทำให้ดีที่สุดในหมวกแต่ละใบที่สวมใส่ โดยต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ในหมวกแต่ละใบ เช่น ผมต้องการทำงานบริการช่วยเหลือสังคม ผมก็ไปทำงานอาสาในโรงพยาบาลในโครงการต่าง ๆ อาทิ ผมไปเป็นแพทย์อาสาดมยาผู้ป่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ผมสามารถไปดมยาช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผมก็มีความจำเป็นในการหารายได้ ผมก็เอาเวลานอกราชการไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ไปหาเงินตรงนั้น แต่พอมาเป็นอาจารย์แพทย์ ผมก็จะทำงานในหน้าที่ของอาจารย์อย่างเต็มความสามารถ สิ่งเหล่านั้นเป็นทางเลือก แต่ให้มองความมุ่งหมายของตนเองอยากได้อะไร และเลือกให้ถูกกับความต้องการก็จะประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจ ขอแต่เพียงอย่าทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก