“การขาดความรู้ความเข้าใจในตัวโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เราก็แก้โดยการใช้องค์ความรู้ที่มี ไปทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง”
รศ. นพ. ภิรุญ มุตสิกพันธุ์
นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
อนุสาขาวิชาโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อ
ผมเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนหนองฉางวิทยา โรงเรียนประจำอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี แล้วเข้ามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่กรุงเทพฯ ตามค่านิยมของคนต่างจังหวัดที่ว่าถ้ามาเรียนในกรุงเทพฯก็มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่า ตอนนั้นก็ยังไม่มีความชอบอาชีพอะไรเป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเตรียมอุดม ก็มักจะเลือกเรียน แพทย์ วิศวะ ทันตะ เภสัช ก็เลือกตามเพื่อน ก็สอบได้คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งเลือกเป็นอันดับที่หนึ่ง ที่เลือกที่รามาฯ เพราะเขาว่ากันว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีความใหม่ และตอนเด็ก ๆ ผมเคยมารักษาไซนัสอักเสบที่นี่ โรงเรียนแพทย์ที่อื่นก็ไม่รู้จักเลย หลังจากเข้ามาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี แล้วก็ไม่ผิดหวัง ในช่วงที่อยู่ชั้นปรีคลินิกก็ยังไม่รู้ว่าชอบการเป็นแพทย์หรือเปล่า เพราะยังไม่ได้เจอคนไข้จริง ๆ แต่เรียนไปได้เรื่อย ๆ จนกระทั่งขึ้นชั้นคลินิกได้เจอคนไข้จริง ๆ ถึงรู้ว่าเรียนแพทย์ก็สนุกในการหาคำตอบว่าคนไข้เจ็บป่วยจากอะไร และมีความสุขเมื่อคนไข้หายจากโรคหรืออาการดีขึ้น และเครียดถ้าคนไข้อาการแย่ลง พอขึ้นแผนกอายุรศาสตร์ ก็รู้เลยว่าชอบสาขาวิชานี้แน่นอน เพราะชอบการได้ใช้ตรรกะในการวินิจฉัยและรักษา ประกอบกับสายตาสั้นมาก ทำให้ไม่มั่นใจเวลาต้องผ่าตัดหรือเย็บแผลและสู้เสียงร้องของเด็กเล็ก ๆ ไม่ค่อยไหว ส่วนที่ชอบสาขาโรคติดเชื้อนั้น ประการแรกคือ หลังจากขึ้นชั้นปีที่ 5 มีความประทับใจอาจารย์ ศ. พญ. บุญมี สถาปัตยวงศ์ เป็นอย่างมาก อาจารย์เป็นครูแพทย์ที่ประเสริฐ ผมได้มีส่วนร่วมในการทำวิจัยกับอาจารย์บุญมีตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 5 ได้นำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 หรือที่เรียกว่า extern ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ประการที่สองคือ หลังจากออกไปฝึกงานตอนเป็น extern พบว่าผู้ป่วยมักจะมาหาหมอด้วยเรื่องไข้ เป็นอันดับแรก ๆ และสาเหตุของโรคติดเชื้อก็มักจะรักษาหายขาด ไม่เหมือนโรคเรื้อรังในอวัยวะอื่น ๆ และเหตุผลอีกประการ คือ ไม่ต้องทำหัตถการฉุกเฉิน เหมือนแพทย์ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบหัวใจและหลอดเลือด สาขาโรคติดเชื้อจะเน้นที่การรวบรวมประวัติ ตรวจร่างกาย แล้วนำมาวิเคราะห์ แล้วเลือกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น และยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม
เมื่อจบแล้วได้สมัครเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ของภาควิชาอายุรศาสตร์ เนื่องจากตั้งใจจะเป็นอายุรแพทย์แน่นอน จึงอยากจะเรียนเฉพาะทางนี้โดยตรง สาเหตุที่เลือกใช้ทุนที่นี่ เพราะตอนนั้นเป็น extern ที่รพ.มหาราชนครราชสีมา การเดินทางมาสอบสัมภาษณ์ด้วยรถทัวร์ค่อนข้างสะดวกกว่า และคิดว่าคุ้นเคยกับชาวบ้านทางภาคอีสาน และไม่รู้จักใครในภาคเหนือและภาคใต้เลย และอีกประการคือ อาจารย์แพทย์หลาย ๆ ท่านที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ ที่ขอนแก่น ก็จบจากภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ตอนถูกสัมภาษณ์ก็ได้แจ้งกับกรรมการสอบสัมภาษณ์ไปว่า สนใจสาขาโรคติดเชื้อ
หลังจากเข้ามาเป็นแพทย์ใช้ทุน ก็เป็นช่วงที่เริ่มมีผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย แต่ตอนแรกส่วนใหญ่จะอยู่แถวกรุงเทพฯและภาคเหนือ ตอนนั้นก็รู้สึกอิจฉาที่อื่นว่าเมื่อไหร่เราจะได้มีโอกาสเห็นผู้ป่วยเอดส์บ้าง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อฉวยโอกาส จนในที่สุดก็มีผู้ป่วยรายแรกมานอนรักษาเป็นผู้ป่วยในด้วยเรื่อง Pneumocystis pneumonia มีความวุ่นวายโกลาหลมาก ไม่ต่างกับตอนที่มีผู้ป่วยโควิดรายแรก ๆ โดยเฉพาะสมัยนั้นยังไม่มีความรู้ในเรื่องการแพร่เชื้อกันเท่าไหร่ ได้มีโอกาสเห็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสมากมาย รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นเชื้อโรคแปลก ๆ โดยเฉพาะเชื้อรา เชื้อปรสิต เชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ จากการตรวจย้อมและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หลังจากจบการอบรมได้อนุมัติบัตรสาขาอายุรศาสตร์แล้ว ก็ได้ปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาโรคติดเชื้อเลย ได้มีโอกาสเข้าไปวางแนวทางการรักษาโรคเอดส์กับกรมควบคุมโรค ตั้งแต่เรื่องยาต้านไวรัสสมัยที่มี AZT ตัวเดียว และการรักษาโรคติดเชื้อราฉวยโอกาส ได้เห็นการพัฒนาการดูแลรักษาโรคเอดส์ของประเทศไทยมาตั้งแต่แรก ๆ จนได้มีโอกาสไปเรียนต่อเป็น clinical fellow ด้านโรคติดเชื้อที่ University of Rochester, New York ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโอกาสเปรียบเทียบวิธีคิด และการรักษา และการฝึกอบรมด้านโรคติดเชื้อ และการทำวิจัย ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่เราได้ทำงานด้านโรคติดเชื้อมาก่อนที่จะไปเรียนต่อ
หลังจากเรียน clinical fellow อยู่ 3 ปี ก็กลับมาทำงานที่หน่วยโรคติดเชื้อ ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาจนถึงปัจจุบัน นับแล้วร่วม 30 ปี ได้มีส่วนร่วมเป็นกรรมการของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยมาหลายสมัย โดยเฉพาะในด้านวิชาการ และการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดหรือ fellow และเป็นกรรมการของสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ได้เป็นกรรมการในคณะทำงานบัญชียาหลักแห่งชาติด้านยาปฏิชีวนะและวัคซีน
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
สิ่งที่ภูมิใจจริง ๆ แล้วมีหลายเรื่อง แต่ที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด คือ การได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ตั้งแต่ระยะแรก ๆ และทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ ได้ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์จำนวนมากที่มีอาการรุนแรงจนสามารถมีชีวิตได้เหมือนคนปรกติได้นานมากกว่า 10 – 20 ปี และยังติดตามการรักษากันมาจนถึงปัจจุบัน โดยตัวผู้ป่วยเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีชีวิตจนลูกจบปริญญา และมีหลานให้อุ้มชู
เรื่องที่สอง น่าจะเป็นการที่ได้รับการยอมรับจากแพทย์ด้านโรคติดเชื้อและสาขาอื่น ๆ ในความรู้และประสบการณ์ในการวินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อมาตลอด 30 ปี มีโอกาสเป็นวิทยากรให้ความรู้กับแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง เชื่อว่าน่าจะทำให้การรักษาโรคติดเชื้อเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งการได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุขให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติและแนวทางเกี่ยวกับการรักษาโรคติดเชื้อมาตลอด
เรื่องที่สาม คือ การได้มีส่วนร่วมในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโรคติดเชื้อ และได้มีส่วนช่วยเหลือสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ในการวางแผนพัฒนาแพทย์ด้านโรคติดเชื้อเพื่อให้ผู้ป่วยในประเทศไทยได้มีแพทย์ผู้มีความรู้ความสามารถเชิงลึกมารักษาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ทำมาและประสบความสำเร็จก็อาจจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยเกื้อหนุนเป็นเรื่อง ๆ ไป แต่ที่พอจะเรียบเรียงเพื่อให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านได้บ้างก็จะมี ปัจจัยที่ 1 คือ การมีฉันทะ หรือความชอบในสิ่งที่ทำ เช่น การอยากรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรค ความชอบที่จะค้นหาให้ถึงต้นตอปัญหา ความชอบในสาขาวิชานั้น ๆ เมื่อมีปัจจัยที่ 1 จะนำไปสู่ปัจจัยที่ 2 คือ มีวิริยะ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ไม่รู้สึกเหนื่อย ยินดีที่จะทุ่มเวลา กำลังกายลงไป เช่น ผมมีความชอบที่จะได้เห็นเชื้อจุลชีพจากสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยในกล้องจุลทรรศน์ และอยากจะเก็บไว้ให้ผู้อื่นได้เห็นหรือใช้ในการสอบ ก็จะยินดีที่จะทุ่มเวลาทั้งคืนในการย้อมสไลด์เป็นร้อย ๆ แผ่น เก็บเอาไว้ ซึ่งก็ได้ใช้ประโยชน์ในการสอบแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์และอายุรศาสตร์ต่อยอดมานับสิบ ๆ ปี
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
งานทุกงานมีอุปสรรคอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็ต้องแก้ปัญหากันไป แต่ที่พอจะยกตัวอย่างขึ้นมา อย่างโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน หรือโรคเอดส์ ในสมัยแรก ๆ ที่ทุกคนจะหวาดกลัว และสับสนกับข้อมูลมากมายในโลกโซเชียล ทำให้หลายคนไม่กล้าดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ ปัญหาก็คือ ความไม่พร้อมหรือขาดความรู้ความเข้าใจในตัวโรค โดยเฉพาะโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เราก็แก้เรื่องแรกโดย การใช้องค์ความรู้ที่มีในการเข้าไปทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง การให้ความรู้ที่ถูกต้อง การเป็นที่พึ่งหรือแก้ปัญหาที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นผู้นำหรือทัพหน้าในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อนั้น ทำให้สามารถให้การรักษาและดูแลผู้ป่วย หรือบุคลากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านไปได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการเข้าไปประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระดับโรงพยาบาลและระดับชาติ เพื่อทำให้ได้เครื่องมือที่จำเป็นในการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงการยอมรับแนวทางต่าง ๆ เช่น การส่งตรวจสิ่งส่งตรวจจากร่างกายผู้ป่วย การใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมกับคณะทำงานระดับชาติในการออกแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้การแก้ปัญหาในระดับประเทศได้ผลดี
อยากเสริมตรงนี้ว่า การเข้าไปทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นเป็นตัวอย่าง การเข้าไปประสานงานกับทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติงานให้เขาเข้าใจ และร่วมทำงานไปกับเรานั้น ทุกฝ่ายจะต้องให้ความเชื่อมั่นกับเราก่อน ดังนั้นเราต้องพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ให้มากที่สุด ให้ทุกฝ่ายมั่นใจทั้งตัวเราและทีมงานที่ช่วยเราทำงานว่า มีองค์ความรู้เพียงพอที่จะช่วยหรือแนะนำเขาได้ ซึ่งตรงนี้เราจะต้องมีความพร้อมทั้งเวลา พร้อมทั้งองค์ความรู้ที่เพียงพอในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้
ประสบการณ์ในช่วงแรก ๆ ที่โรคโควิด 19 ระบาด
ในช่วงแรกของการที่โควิด 19 ระบาด ประมาณ ม.ค. 2020 เรายังไม่รู้จักกันดี ข้อมูลก็ยังไม่มาก ทุกคนก็กลัวในสิ่งที่ไม่รู้ ตอนนั้นมีการระบาดและมีจำนวนคนที่เสียชีวิตสูงในต่างประเทศ และเราได้เจอผู้ป่วยในประเทศไทย หลังการระบาดที่เมืองจีนเพียงไม่กี่วัน ซึ่งตอนนั้นโรงพยาบาลส่วนใหญ่รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่มีความพร้อม ทั้งระบบต่าง ๆ และบุคลากร ความรู้เรื่องโรคก็ยังไม่มากพอ สำหรับที่จังหวัดขอนแก่น รพ.ศรีนครินทร์ ก็จะใช้มาตรการสูงสุดคล้ายกับตอนที่โรคเอดส์ระบาดเคสแรก ๆ คือไม่รู้ว่าจะบวกจะลบ จะเป็น airborne หรือเป็น droplet เฉย ๆ ไม่มีใครอยากจะเข้าไปดูคนไข้ เราและทีมงานซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้า ก็ต้องลงไปดูคนไข้เป็นด่านแรก ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน ซึ่งช่วงที่คนไข้มีไม่กี่คน การเตรียมการต่าง ๆ ก็ยังไหว ภายหลังเชื้อระบาดเร็ว จำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นคนไข้ที่ค่อนข้างหนัก มีอัตราการเสียชีวิตสูง ทำให้ต้องมีการใช้ห้องไอซียู ห้อง negative pressure ต้องใช้สถานที่ต่าง ๆ เพิ่ม ต้องใส่ชุดอวกาศ ตอนนั้นเราไม่มีชุดอวกาศ แรก ๆ ก็ต้องไปยืมที่อื่นมาอีก ซึ่งการเตรียมการในระยะต่อมาต้องเป็นเรื่องที่ได้รับความเห็นชอบในระดับนโยบาย ซึ่งเราก็ต้องสื่อสารและทำให้ผู้บริหารเห็นและเกิดความมั่นใจ
สถานการณ์การระบาดทั้งโรคเอดส์และโรคโควิด 19 เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
เป็นโรคระบาดเหมือนกัน แต่คนละช่วงเวลา 30 ปีก่อนซึ่งสมัยโรคเอดส์ ข่าวจะเป็นทางหนังสือพิมพ์กับวิทยุ ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียล มีเดีย ทำให้ทุกคนกลัวกันมาก กับช่องทางการติดต่อระหว่างกัน ทำให้คนไข้เอดส์จะเป็นคนที่อยู่ในวัยอายุน้อยถึงวัยกลางคน และมีสภาพที่ไม่ดี ทรุดโทรม โรคแทรกซ้อนเยอะ เพราะไม่มีใครอยากดูแล เป็นการติดทางสารคัดหลั่ง เลือด ก็ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้ ตอนนั้นพอมีคนไข้เอดส์เข้ามาที่โรงพยาบาลหรือเข้ามาที่วอร์ด ก็ไม่มีคนไข้อื่นอยากจะมาใช้บริการที่โรงพยาบาล พอมาโรคโควิด 19 แรก ๆ ก็จะคล้ายกันคือ ถ้าโรงพยาบาลไหนมีคนไข้โควิด 19 อยู่ ก็จะเกือบร้าง ยิ่งภาคเอกชนยิ่งไม่อยากรับ เพราะทำให้คนไข้อื่นไม่อยากจะมาโรงพยาบาล ประกอบกับเป็นโรคใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ความกลัวก็จะมี ตรงนี้ทำให้การบริการสาธารณสุขช่วงนั้นแปรปรวนไปหมดเลย
“ตอนนั้น
พอมีคนไข้เอดส์เข้ามาที่
โรงพยาบาลหรือเข้ามาที่วอร์ด
ก็ไม่มีคนไข้อื่นอยากจะมา
ใช้บริการที่โรงพยาบาล
พอมาโรคโควิด 19
แรก ๆ ก็จะคล้ายกัน”
ส่วนข้อที่ต่างกันก็คือ อายุและสภาพผู้ป่วย โรคเอดส์จะเป็นอย่างที่กล่าวก่อนหน้า ขณะที่ผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาการหนัก ๆ จะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมักจะอยู่ในวัยสูงอายุ ในขณะที่สภาพผู้ป่วยที่อาการหนักนอนอยู่โรงพยาบาล ก็จะเป็นเพียงสภาพใส่ท่อช่วยหายใจ หรือในกลุ่มเสี่ยงที่ไปโรงพยาบาลไม่ทัน มีการเสียชีวิตที่บ้าน สภาพร่างกายจะดูไม่ทรุดโทรมเหมือนผู้ป่วยเอดส์ที่อาการหนัก คนจะยอมรับสภาพผู้ป่วยโควิดได้ดีกว่า
อีกเรื่องช่วงการระบาดของโควิด 19 เป็นช่วงที่มีการใช้โซเชียล มีเดียกันแพร่หลาย ทั้งข่าวจริงและข่าวไม่จริงสามารถเผยแพร่ได้เร็ว ข่าวจริงก็ช่วยให้ผู้ป่วยและคนในสังคมดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ขณะที่ข่าวไม่จริงก็เกิดขึ้นง่าย แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็จะมีข่าวจริงมาแก้ได้เร็ว ในขณะที่ช่วงที่โรคเอดส์ระบาด กว่าที่คนไข้หรือประชาชนทั่วไปจะรู้ข้อมูลว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ก็ใช้เวลามาก
ข้อแนะนำในการรับมือกับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต
ทุกที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือไว้แต่แรก เราอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอเชื้อใหม่ ๆ ซึ่งวงจรการระบาดมันอาจจะสั้นลง ๆ และอาจจะไม่ใช่การติดต่อทางระบบทางเดินหายใจก็ได้ อาจจะเป็นระบบอื่น แต่พอมันเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่รู้ว่าอะไร คนก็จะกลัวไปหมด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้อยากให้มีพื้นที่รองรับโรคใหม่ ๆ จะอยู่ในรูปวอร์ดหรือโซนที่สามารถปรับเพื่อรับมือได้อย่างรวดเร็ว มีอุปกรณ์ที่ยืดหยุ่นเพื่อรับมือโรคแบบนี้ได้ เพราะไม่อย่างนั้น พอมีมากะทันหันทุกคนก็ต้องบอกให้ส่งรพ.บำราศฯ แห่งเดียวเลย หรืออย่างเครื่องป้องกันที่คลุมเต็มตัว ชุดอวกาศ ช่วงที่มีโควิด เรามีเพียงชุดเดียว ก็ไม่พอ ก็ใส่ได้คนเดียว ขณะที่ต้องใช้คนเข้าไปดูแลหลายคนในช่วงนั้น
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
เรามีความรู้สึกว่า เราผ่านในยุคที่ไม่มีอะไร จนมาถึงยุคที่มีความพร้อมขนาดนี้แล้ว และได้อยู่ในโรงพยาบาลแพทย์ ในเรื่องการบริการหรือดูแลคนไข้ การสอน การทำวิจัย ก็พยายามทำมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ถึงจุดนี้ก็ไม่รู้จะย้อนกลับไปทำไม สิ่งที่อยากทำก็ได้ทำมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าจะให้ตอบก็ขอเป็นการกลับไปเขียนงานวิจัยที่ได้ทำเสร็จแล้ว และยังไม่ได้เขียนเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ทำให้บางเรื่องอาจจะไม่ทันสมัยแล้ว การเผยแพร่ตอนนี้ก็อาจจะไม่มีประโยชน์ในการนำไปใช้ เท่ากับการเผยแพร่ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นแล้ว
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรกเลยคือ ศ. พญ. บุญมี สถาปัตยวงศ์ ท่านเป็นต้นแบบของครูแพทย์ และเป็นปูชนียบุคคลของวงการแพทย์โรคติดเชื้อ ท่านให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ตรรกะ และหลักฐานเชิงประจักษ์มาในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย และการอุทิศตนในด้านแพทยศึกษา การฝึกฝนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด เป็นความภูมิใจของผมที่ได้เรียนและได้ทำงานร่วมกับอาจารย์
ท่านที่สอง คือ ศ. นพ. อมร ลีลารัศมี อาจารย์เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับวงการแพทย์ทั่วไปและแพทย์อายุรกรรม อาจารย์มีส่วนในการผลักดันวงการแพทย์ให้มีระบบ ระเบียบ และอาจารย์ยังสละเวลาในการเขียนบทความเกี่ยวกับโรคติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง
ท่านที่สาม คือ ศ. นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม อาจารย์มีความเป็นนักวิจัยสมบูรณ์แบบ งานวิจัยของอาจารย์มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นรูปธรรม อาจารย์เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติโดยเฉพาะด้านโรคเอดส์ อาจารย์มีส่วนผลักดันการศึกษาวิจัย ในประเทศที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ผมยึดหลัก ทำชีวิตในปัจจุบันให้มีคุณค่า โดยไม่เบียดเบียนทั้งตัวเองและต่อผู้อื่น ปฏิบัติติตัวต่อผู้อื่นต้องไม่ด้อยไปกว่าที่ทำให้ตัวเอง ไม่คาดหวังเรื่องในอนาคต และไม่ยึดติดเรื่องในอดีต พยายามให้เวลากับตัวเองให้มาก ทำงานด้วยความตั้งใจให้ดีที่สุด
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
การแพทย์ของเมืองไทยในปัจจุบันมีการพัฒนาทั้งปริมาณและคุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์ เทคโนโลยี และยารักษาโรค ดีมากกว่าสมัยก่อนมาก การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์เป็นไปได้สะดวกและรวดเร็ว มีการสื่อสารกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยด้วยวิธีการทางโซเชียลหลากหลายและรวดเร็ว
สำหรับเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการนำมาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ แพทย์เองก็ต้องเรียนรู้ความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ไม่เฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง เพราะอาจจะกระทบเราทั้งด้านตรงและด้านอ้อม อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า การวิเคราะห์ด้วยทักษะวิชาชีพของแพทย์แต่ละคนยังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่จะรักษาสมดุล ในการใช้เทคโนโลยีที่มีมากขึ้นร่วมกับการวิเคราะห์ของแพทย์แต่ละคน ไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป
ทิศทางในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้ป่วยสูงอายุเพิ่มขึ้น รวมทั้งประชาชน จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคมะเร็งหรือโรคหลอดเลือดมากขึ้น รวมทั้งมีการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มาเป็นระยะ ในขณะเดียวกันก็จะมีการเข้ามาของเทคโนโลยี และยาใหม่ ๆ มากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการวินิจฉัยและรักษาให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับประเทศไทย
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่ว ๆ ไป ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต เราควรจะต้องมีการรักในวิชาชีพ ใส่ใจศึกษาต่อเนื่อง เพื่อให้มีศักยภาพในการรับมือกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรงดังกล่าว รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางการแพทย์
สำหรับแพทย์ในสาขาโรคติดเชื้อ ก็คงไม่ต่างจากแพทย์ทั่วไป แต่มีข้อเสริมคือ การวินิจฉัยเรายังไม่มีเครื่องมือที่ลงลึกได้ หลาย ๆ อย่างต้องอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการซักประวัติ ต้องเป็นหลักอยู่แล้ว แต่แพทย์รุ่นใหม่บางคน อาจให้เวลาในการซักประวัติน้อย เน้นใช้เครื่องมือในการตรวจเลย ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจได้คำตอบที่เร็วขึ้น แต่ในด้านโรคติดเชื้อ ผมคิดว่าการซักประวัติให้ได้ข้อมูลที่มาก และการตรวจร่างกายที่ดีจะช่วยลดการส่งตรวจที่ไม่จำเป็นออก ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่จำเป็นได้ แต่ถ้าเอาเทคโนโลยีมาจับเลย ถึงจะได้คำตอบเหมือนกันหรือเร็วขึ้น แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่าย ใช้เยอะก็สิ้นเปลืองเยอะ บางเรื่องไม่ต้องใช้เลยก็ได้ แค่อาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย แล้วนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ก็ช่วยลดการตรวจที่ไม่จำเป็นลงได้
“แต่ในด้านโรคติดเชื้อ ผมคิดว่าการซักประวัติให้ได้ข้อมูลที่มาก และการตรวจร่างกายที่ดีจะช่วยลดการส่งตรวจที่ไม่จำเป็นออก”
สำหรับการใช้ยาก็แนะนำให้ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้โดยมีจุดประสงค์สูงสุดคือ ต้องการให้คนไข้หาย และดีขึ้น ถ้าเราคิดว่ามีประโยชน์ต่อคนไข้แน่ ๆ ก็เลือกใช้ได้ อย่างโรคบางอย่างใช้ยาหลาย ๆ ตัวรักษาได้ มีบางตัวอาจจะกว้างไปโดยไม่จำเป็น มีบางตัวที่จำเพาะกว่า เราก็เลือกที่จำเพาะ ไม่ใช่ว่าจะใช้ครอบไปหมดทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น ส่วนการที่จะรักษาครอบคลุมหมด หรือเฉพาะเจาะจงก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เราได้ ถ้าเราใช้ข้อมูลเรารวบรวมข้อมูลได้เต็มที่และเหมาะสม เราก็จะเลือกยา การรักษาที่จำเพาะมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง คนไข้หายเร็วขึ้น ค่าใช้จ่ายการรักษาใน รพ. ก็จะลดลงไปตามนั้น
ในฐานะแพทย์ก็จะต้องผ่านการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ เลือกใช้ให้เหมาะสมกับตรงนี้ รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน เพื่อป้องกันโรคก็เป็นสิ่งสำคัญ เรืองวัคซีน ก็ต้องให้ความรู้ ความรู้ที่ถูกต้องก็ต้องมาจากแหล่งความรู้ที่ถูกต้องด้วย
ข้อแนะนำในการสื่อสารทางด้านโรคติดเชื้อ
จริง ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับโรคติดเชื้ออย่างเดียว อาจจะมีโรคใหม่ ๆ ที่อาจจะยังไม่แพร่เข้ามาในคน หรือยังไม่ได้ค้นพบ ทุกคนต้องหาความรู้ ในโรคทั่ว ๆ ไปไม่เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ โรคทั่วไปที่มีมานานแล้วด้วยเทคโนโลยีที่ต้องมีการรักษาใหม่ ๆ เข้ามา เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการหาความรู้ต่อเนื่อง ก็ต้องมีความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องประชุมอย่างเดียว ซึ่งก็มีในเอกสาร หนังสือ ซึ่งต้องได้ข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสารด้านวงการแพทย์เป็นการต่อเนื่อง และสามารถวิเคราะห์ว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน การเผยแพร่ต่อจะส่งผลกระทบอย่างไร คนที่รับข้อมูลเป็นกลุ่มไหน สามารถวิเคราะห์แยกแยะได้หรือไม่
อย่างเนื้อหาทางด้านโรคติดเชื้อ ซึ่งจะมีเชื้อใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แพทย์หรือบุคคลทั่วไปอาจไปอ่านตรงหัวข้อหรือสรุปเรื่อง ไม่ได้อ่านเนื้อในให้ละเอียด แล้วหยิบข้อมูลไปสื่อสารเลย โดยถ้าเราอ่านเนื้อในอย่างถี่ถ้วน ความลึกซึ้งหรือว่าการแปรผล จะถูกต้องมากกว่า และแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญ ขอแนะนำว่าควรจะเป็นองค์กรวิชาชีพหรือสถาบัน เช่น เว็บไซต์ของสมาคมโรคติดเชื้อฯ เราเองก็พยายามตอบสนองให้ทันต่อข่าวด้วยเหมือนกัน ที่ผ่านมายอมรับว่าบางเรื่องเราก็อาจจะต้องประสานกับกรมควบคุมโรค ทำให้อาจจะมีบางเรื่องช้าไปบ้าง ซึ่งก็จะพยายามปรับแก้