“ปกติเป็นคนใจร้อน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าเราควรต้องมีสติ คิดเสมอก่อนที่จะทำอะไร”
พญ. จุไร วงศ์สวัสดิ์
นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม)
สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 73 ปี 2561
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะกุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ
สอบเข้าและเรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา ตอนเรียนไม่ได้เรียนอย่างเดียว ทำกิจกรรมด้วย โดยเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของโรงเรียน ชอบเรียนคณิตศาสตร์ และตั้งใจว่าอยากเรียนแพทย์ เพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น มีเกียรติ ทางครอบครัวก็สนับสนุน ตอนเอนทรานซ์ติดที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช
ตอนเรียนแพทย์ ต้องทุ่มเทอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รู้สึกว่าเครียดมากแต่อย่างใด ถึงแม้ช่วง pre clinic จะมีการสอบค่อนข้างถี่ ได้ร่วมทำกิจกรรมออกค่ายอาสา ร่วมงานสโมสรนักศึกษา และเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล ฟันดาบ สากลของมหาวิทยาลัยมหิดล และเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย และกีฬาแปดเข็ม ที่ศิริราชมีวัฒนธรรมในเรื่อง seniority ความทุ่มเทในการดูแลคนไข้ซึ่งเราได้ซึมซับตรงนี้มา ภูมิใจที่จบสถาบันนี้ หลังจากจบแพทย์แล้วก็ไปเป็นแพทย์ใช้ทุน ที่โรงพยาบาลจังหวัดชุมพร เป็นแพทย์ทั่วไปต้องทำทุกอย่าง ผ่านทุกแผนก ได้เรียนรู้จากแพทย์รุ่นพี่ และเนื่องจากตอนนั้นขาดศัลยแพทย์ จึงถูกมอบหมายให้อยู่แผนกศัลยกรรมนานที่สุด การใช้ทุนที่ต่างจังหวัดทำให้มีประสบการณ์และเข้าใจบริบทของการทำงานเป็นแพทย์ในพื้นที่ชนบท และทำให้ตัดสินใจได้ว่าชอบที่จะเลือกเรียนต่อสาขาใด ซึ่งการทำงานในช่วงใช้ทุน 2 ปี เริ่มรู้สึกชอบในการดูแลรักษาเด็ก โดยตอนแรกสนใจที่จะเรียนด้านทารกแรกเกิด ต่อมาทราบว่าทางสถาบันบำราศนราดูร (ในขณะนั้นชื่อ โรงพยาบาลบำราศนราดูร) ในสังกัดกรมควบคุมโรค มีทุนเด็กให้ไปเรียน จึงขอย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลบำราศนราดูรในปีที่ 3 ของการใช้ทุน
หลังจากนั้น จึงรับทุนเด็กของโรงพยาบาลบำราศนราดูร ไปเรียนต่อเป็นแพทย์ประจำบ้าน สาขากุมารเวชศาสตร์ ที่ศิริราช 3 ปี โดยตอนเป็นแพทย์ประจำบ้าน ได้เห็นอาจารย์ทางด้านโรคติดเชื้อเด็ก ได้แก่ ศ. นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ศ. พญ. อุษา ทิสยากร เหมือนเป็นโมเดลที่ทำให้รู้สึกว่าความรู้ทางด้านโรคติดเชื้อมีประโยชน์มากในการดูแลคนไข้ โดยเฉพาะการเป็นกุมารแพทย์ เนื่องจากในขณะนั้น บ้านเราปัญหาโรคติดเชื้อยังเป็นปัญหาหลัก นอกจากนี้ ได้มีโอกาสเรียนรู้กับ ศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ซึ่งอาจารย์เพิ่งกลับมา เลยมีความสนใจว่าอยากจะเรียน sub-board ทางด้าน Infectious ประจวบกับพอกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสังกัดกรมควบคุมโรค (ในขณะนั้นยังเป็นกรมควบคุมโรคติดต่อ) ยังไม่มีแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ จึงเอาทุนที่นี่ โดยคราวนี้ไปเรียนต่อทางด้านโรคติดเชื้อเด็กที่ ภาควิชากุมาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ 2 ปี ซึ่งการเรียนที่นี่ได้เพิ่มทักษะในการทำงาน การประสานงานในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงทักษะในการทำวิจัย ซึ่งได้รับโอกาสและการสนับสนุนจาก ศ. พญ. อุษา ทิสยากร ศ. พญ. ศศิธร ลิขิตนุกูล และ รศ. นพ. ชิษณุ พันธุ์เจริญ หลังจากนั้น จึงกลับมาทำงานต่อเป็นกุมารแพทย์โรคติดเชื้อที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร โดยการที่เป็นแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ ซึ่งตรงกับงานหลักของกรมควบคุมโรคในขณะนั้นที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทั้งหมดจึงมีโอกาสได้ใช้ความรู้ช่วยงานของกรม และกระทรวงสาธารณสุข ได้มีโอกาสร่วมเป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานด้าน Clinical
practice guidelines ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อทั่วไป โรคเอดส์และวัคซีน ทำให้ได้ประสบการณ์มากขึ้นในการคิดเป็นระบบ รวมถึงในด้านการวางนโยบายในภาพกว้างด้านสาธารณสุข (Public Health) เปิดมุมมองเพิ่มขึ้นโดยมองทางด้าน Public Health เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการที่มี blackground เป็น clinician ด้านโรคติดเชื้อเป็นจุดเสริมที่สำคัญ ในการช่วยคิดนโยบายทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ ซึ่งส่วนตัวถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์กับประเทศ นอกจากนี้แล้ว ตอนกลับมาใช้ทุนที่บำราศฯ ปีแรก หลังจากจบ Fellow ที่จุฬาฯ ได้มีโอกาสร่วมในการดูแลและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค Severe Acute Respiratory Syndrome (SARS) ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ในขณะนั้น และทำให้งานด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ และการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ยกระดับความสำคัญขึ้นมาในระดับประเทศ และหลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ประเทศไทยมีการดำเนินงานและพัฒนางานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนตัวเองได้มีส่วนร่วมผลักดันและมีความภาคภูมิใจในงานนี้เช่นเดียวกัน หลังกลับมาทำงานที่บำราศประมาณ 2 – 3 ปี ได้มีโอกาสได้รับทุนฝึกอบรมของ ก.พ. ไปอบรมทางด้านระบาดวิทยา ที่ Imperial College London, เรื่อง Modern epidemiology ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญของงานด้านระบาดวิทยา การพยากรณ์โรค โดยใช้ mathematical modeling และงานด้านสาธารณสุข ซึ่งการไปเรียนตรงจุดนี้ นอกจากความรู้และการเปิดมุมมองที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้รู้สึกรักประเทศไทยมากขึ้น ไม่อยากให้ใครมองประเทศเราในด้านลบและอยากกลับมาพัฒนางานของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้กลับมาทำงานต่อที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันบำราศนราดูร (เนื่องจากภารกิจด้านงานวิจัยมากขึ้น) ในสังกัดกรมควบคุมโรค จนถึงปัจจุบัน
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายมีได้หลายระดับ และขึ้นกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับในบทบาทการเป็นกุมารแพทย์รักษาคนไข้ ยังออกตรวจ OPD อยู่เวร consult เป้าหมายที่สำคัญคือ การรักษาผู้ป่วยเด็กให้หายดี สิ่งสำคัญคือ บางครั้งอาจไม่ได้รักษาแค่เด็ก แต่ต้อง support ไปถึงครอบครัวหรือผู้ดูแลเด็ก โดยเฉพาะการดูแล cases หนัก หรือ cases เรื้อรัง เช่น เอชไอวี โดยเฉพาะ cases เอชไอวี ที่จะต้องติดตามดูแลกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะที่ระยะหลัง ๆ มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงได้ตามระบบของประเทศ
เป้าหมายด้านการเรียนการสอน สถาบันบำราศนราดูร เป็นสถาบันที่มีการเรียนการสอนการดูงาน โดยเฉพาะด้านโรคติดเชื้อทั่วไป โรคเอดส์ และเป็นต้นแบบการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โดยมีการจัดหลักสูตรและการขอมาศึกษาดูงาน จากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่วนตัวได้มีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตรและร่วมเป็นวิทยากร นอกจากนี้ ได้จัด Infection Control (IC) course หรือการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลสำหรับน้องเฟลโล่โรคติดเชื้อเด็ก ซึ่งทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุนต้องการให้มีคอร์ส ซึ่งได้จัดมาประมาณ 3 – 4 รุ่นแล้ว นอกจากนี้เริ่มในช่วง 1 – 2 ปีนี้ มีน้องแพทย์เพิ่มพูนทักษะมาปฏิบัติงานที่สถาบัน ซึ่งการเรียนการสอนจะเป็นการสอนที่หน้างาน การ round ward การอยู่เวร รวมถึง Conferences ต่าง ๆ ซึ่งเป้าหมายสำคัญก็คือ ผู้ที่มาเรียนหรือน้อง ๆ ที่มาปฏิบัติงานได้รับประโยชน์และความรู้มากที่สุด
เป้าหมายงานวิจัย เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้ นอกเหนือจากงานวิจัยที่เป็น PI เอง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ ก็จะเริ่มมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนงานวิจัยของน้อง ๆ หรือบุคลากรอื่น โดยเฉพาะที่สังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งจะเป็นวิจัยเกี่ยวกับงานด้านสาธารณสุข การป้องกันควบคุมโรค งานวิจัยที่ทำเองตอนนี้ คือ เกี่ยวกับเรื่อง ซิกาไวรัส ตอนนี้มีอยู่ 2 โครงการ กำลังดำเนินการอยู่
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
คิดว่าสิ่งที่สำคัญมากคือ ความมุ่งมั่น อดทน และตั้งใจทำงานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลัง ถึงแม้บางงานอาจไม่สำเร็จ แต่ก็ถือว่าได้เรียนรู้และเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า ศ. พญ. อุษา ทิสยากร เคยสอนว่าเมื่อโอกาสมาถึง เราควรคว้าไว้ และตั้งใจทำอย่างเต็มที่
อีกอย่างที่สำคัญคือ การที่เราพยายามฝึกฝนให้เป็นคนที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เราต้องเข้าใจและให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน มีสติ อดทน และใจเย็น ปกติเป็นคนใจร้อน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าเราควรต้องมีสติ คิดเสมอก่อนที่จะทำอะไร นอกจากนี้ การมีทักษะการประสานงานที่ดีก็สำคัญ โดยเฉพาะงานด้านโรคติดเชื้อที่จะมีผู้เชี่ยวชาญในโรคต่าง ๆ อยู่แต่ละที่กัน ในการทำงานนอกจากเราจะต้องมีความรู้เรื่องนั้น ๆ อย่างดีแล้ว ยังต้องมีการประสานและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานและภาคีเครือข่ายทุกระดับ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการสนับสนุนการดำเนินงานให้ราบรื่นและบรรลุตามเป้าหมาย
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
เป้าหมายที่ไม่สำเร็จมีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เวลามีปัญหาอะไรต้องดูว่าเกิดจากเราไหม ถ้ามีอะไรที่ปรับได้โดยที่ยังอยู่ในความถูกต้องก็ปรับ และควรทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบอย่างเต็มกำลัง แต่อย่างไรก็ตาม จะมีปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจะต้องปล่อยวาง อย่างไรก็ตาม เราต้องพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ปกติตัวเองจะเป็นคนที่พูดตรงมาก เช่น ในที่ประชุมถ้าเรามีความคิดเห็นต่างไป และคิดว่ามีประโยชน์ ก็ควรแสดงความคิดเห็นนั้น เราค้านไปเขาจะรับหรือไม่รับก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเรารู้แล้วเงียบ พอเกิดผลเสียขึ้นมา เราจะเสียใจ ถือว่าได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว นอกจากนี้ เราควรเปิดกว้างทางความคิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาพัฒนางานต่อไป
ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหา เหนื่อยหรือท้อปรึกษากับใคร
ถ้าเป็นปัญหาในด้านการดำเนินงานจะปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า อาจารย์หลาย ๆ ท่านช่วยให้คำแนะนำและสนับสนุนมาโดยตลอดและจะปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ ท่านจะเน้นในเรื่องความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ จะสนับสนุนให้เราทำงานอย่างเต็มที่ และท่านเป็นคนมีเมตตา สิ่งที่ท่านสอนเสมอ ต้องเมตตากับผู้ที่ด้อยกว่าเราการมีกัลยาณมิตร หรือเพื่อนที่ดี ก็ช่วยให้คำปรึกษาแนะนำและสนับสนุนเราได้มาก
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
มีอาจารย์หลายท่านมากที่เป็นแบบอย่างในการทำงาน อาจารย์แพทย์ทุกท่านจากศิริราชเป็นต้นแบบที่ทุ่มเทในการทำงาน อย่างอาจารย์หลายท่านที่เกษียณแล้ว แต่อาจารย์ก็ยังมานั่งทำงาน ตอนนั้นเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ที่ศิริราช แล้วแทงน้ำเกลือเด็กไม่ได้ เด็กจะต้องให้คีโม ซึ่งตอนนั้นเหมือนเลื่อนนิดหน่อยได้ ปรากฏวันรุ่งขึ้นอาจารย์อาวุโสที่เกษียณแล้วก็มาราวน์ ก็บอกว่าทำไมไม่มาตามผมแทงน้ำเกลือ อาจารย์ที่ศิริราชจะเน้นถึงการทุ่มเทในการทำงาน
ศ.กิตติคุณ นพ. จุล ทิสยากร และ ศ. พญ. อุษา ทิสยากร เป็นอาจารย์ที่เคารพนับถือมาก อาจารย์จะเมตตาและให้การสนับสนุนอย่างมาก เป็นต้นแบบในเรื่องของการทุ่มเทในการทำงาน การประสานงาน อาจารย์จะพยายามผลักดันให้ไปถึงเวทีระดับอินเตอร์เนชั่นแนลอาจารย์รักลูกศิษย์มาก ถึงจะจบมาแล้ว แต่อาจารย์ก็ยังคอยช่วยเหลือและให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง จำได้ว่าตอนเรียนที่จุฬาฯ จะมี conference ของโรคติดเชื้อทุกวันจันทร์ และอาจารย์ให้ทำเป็นภาษาอังกฤษตัวเราเองไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ แต่อาจารย์มอบโอกาสมาให้ ทำให้เราต้องมีความพยายามและพัฒนาตรงนี้ให้มากขึ้นจนมีความมั่นใจ และพบว่ามีประโยชน์มากในการทำงานต่อ ๆ มาโดยเฉพาะในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล
ศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์เก่งมาก ตอนนี้จะเจออาจารย์ในที่ประชุมของกระทรวงบ่อย ๆ อาจารย์จะเป็น Expert ที่ทางกรม หรือกระทรวงเชิญมาเป็นที่ปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะ ส่วนตัวเองรู้สึกได้เรียนรู้จากอาจารย์อย่างต่อเนื่อง
รศ. นพ. ชิษณุ พันธุ์เจริญ อาจารย์ก็เป็นต้นแบบของการทุ่มเทในการทำงาน ตอนเป็นเฟลโล่ ได้ทำโปรเจกต์วิจัย ซึ่งอาจารย์ขอทุนให้และช่วยผลักดัน ทำให้เราได้ประสบการณ์การทำวิจัย ซึ่งต่อมามีการประกวดผลงานวิจัย ได้ที่ 1 (ตอนนั้นทำเรื่อง Rabies pre exposure ในเด็ก)
รศ. นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ เป็นอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบให้เห็นถึงการทำงานเชื่อมโยงระหว่างงานภาค academic หรือวิชาการ กับงานภาคสาธารณสุขเพราะอาจารย์อยู่กรมการแพทย์ เราดูอาจารย์เป็นแบบอย่างว่าควรจะปฏิบัติหรือพูดลักษณะอย่างไร เพราะว่าเวลาทำงานระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จะมีผู้ใหญ่หลายท่านในงานภาคสาธารณสุขที่ต้องประสานงาน
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
การตั้งใจทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด คิดว่าทุกอย่างเป็นโอกาส และจะยึดการมองโลกในแง่ดี เพราะเนื่องจากสังคมปัจจุบันคนเครียดเยอะ การมองโลกในแง่ดีจะไปด้วยกันกับการให้อภัยคน เมตตาคน เราก็จะสบายใจ รวมถึงการให้เกียรติผู้ร่วมงาน
สำหรับการเป็นแพทย์ ให้ยึดพระราชดำรัสของพระราชบิดาที่ ท่านได้กล่าวไว้ “ให้ยึดถือประโยชน์ของส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
การแพทย์เมืองไทย ณ ปัจจุบันนี้ เราเข้าสู่ยุคดิจิตอล หลาย ๆ อย่างต้องมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น แพทย์จึงต้องติดตามและใช้เทคโนโลยีให้มีประโยชน์มากขึ้นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยรวมถึงการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค นอกจากนี้ การสื่อสารกับคนไข้อย่างเข้าใจและมีประสิทธิภาพเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะปัจจุบันที่คนไข้ค้นหาข้อมูลเองได้มากขึ้น สิ่งที่จะฝากไว้คือ การให้แพทย์เห็นความสำคัญของงานด้านสาธารณสุข ด้านระบาดวิทยา เพราะว่าจะได้ช่วยคนได้เป็นจำนวนมาก เหมือนกับเราเป็นแพทย์ที่ตรวจคนไข้ ก็จะตรวจเป็นคน ๆ ไป แต่ว่าเรามาทำงานด้านสาธารณสุข เหมือนกับเราวินิจฉัยชุมชน เช่น ขณะนี้ชุมชนนี้ป่วยด้วยโรคอะไร โรคอะไรระบาด มันจะช่วยในภาพกว้าง
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไป เนื่องจากเราเป็นแพทย์ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเราสำคัญที่สุด และการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน หรือการดูแลคนไข้ เราต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และให้เกียรติผู้อื่นเสมอ ซึ่งปัจจุบันสื่อโซเชียลหลาย ๆ อย่างค่อนข้างแรงการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
สำหรับกุมารแพทย์โรคติดเชื้อต้องอัพเดทความรู้อยู่เสมอ โรคติดเชื้อเป็นโรคที่ dynamic ควรอัพเดทด้วยการอ่านกับดูคนไข้ไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถที่จะจำได้ดี นอกจากนี้ โรคติดเชื้อเป็นโรคที่ไม่ได้อยู่เฉพาะแต่ในโรงพยาบาล แต่เชื่อมโยงกับในชุมชน ดังนั้น ต้องคำนึงถึงในแง่การป้องกันควบคุมโรคในชุมชนด้วย นอกจากนี้ การมีความรู้ด้านระบาดวิทยาที่ดี ถือเป็นพื้นฐานที่จะช่วยในงานป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อ ซึ่งแพทย์ในสาขาอื่น ๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมตรงนี้ได้