“ด้วยเวลาน้อย ๆ ที่เรามี… ก็พยายามจะบาลานซ์สมดุลของชีวิตให้ได้ ในความเป็นครูแพทย์และความเป็นแม่ที่ดีค่ะ”
รศ. พญ. วนัทปรียา พงษ์สามารถ
อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
กรรมการและประชาสัมพันธ์ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 78 ปี 2562
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก
มีความตั้งใจแน่วแน่ว่าอยากเป็นกุมารแพทย์ตั้งแต่เด็ก ๆ ถึงกับเขียนชื่อตัวเองไว้ในสมุด Friendship ว่า พญ. วนัทปรียา กุมารแพทย์ ตั้งแต่เรียนชั้นประถมฯ ค่ะ แรงบันดาลใจน่าจะมาจากตอนเด็ก ๆ ได้ตามคุณแม่ ซึ่งเป็นหมอฟันไปที่คลินิกบ่อย ๆ ก็ซึมซับ ชอบเอาเข็มฉีดยามาเล่น ฉีดน้ำเข้าเบาะรอตรวจของคนไข้ของคุณแม่พังไปหลายตัวค่ะ เห็นคุณแม่เหมือนนางฟ้า เวลาทeฟันให้เด็ก ๆ ถ้าเด็กเล็บยาว คุณแม่จะตัดเล็บให้เด็กก่อน เรารู้สึกว่าคุณแม่เป็นหมอฟันที่น่ารักจังเลย และอีกส่วนหนึ่งคือเป็นคนที่มีผลการเรียนดีมากตั้งแต่เด็ก ๆ ค่ะ สอบได้ที่ 1 ตลอด ก็คงจะเป็นค่านิยมในสมัยก่อนด้วยว่าคนเก่งต้องเรียนหมอ แต่ไม่เคยถูกกดดันจากที่บ้านเลยนะคะ ตอนมัธยมปลายเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็สอบเทียบเข้าแพทย์ที่ศิริราช ได้ตั้งแต่ชั้น ม.5 ค่ะ ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ เราก็จะชอบเล่นกับเด็ก ๆ เวลาออกตรวจแพทย์เวรช่วงที่เป็นเอ็กเทิร์นปีสุดท้าย เพื่อน ๆ หลายคนไม่ชอบตรวจเด็ก เราก็จะรับเหมาตรวจเด็กให้เลยค่ะ เวลาที่เราตรวจคนไข้เด็ก เราจะรู้สึกว่าเรามีความสุข เด็กเมื่อเขาป่วยก็โยเยหน่อย แต่เมื่อหายก็สดใส น่ารักค่ะ
ตอนจบแพทย์ ก็เลือกไปใช้ทุนของทหาร 1 ปี ที่โรงพยาบาลค่ายนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ก็ขออยู่ fix วอร์ดเด็กเลย โชคดีมากที่มี พล.ต.หญิง พญ. ศิริพร สันติวรวุฒิ เป็นแพทย์พี่เลี้ยงค่ะ ท่านเป็นแบบอย่างของกุมารแพทย์ที่มีความใส่ใจกับคนไข้มาก ดูแลคนไข้ด้วยใจ เข้ามาราวนด์คนไข้เช้าเย็น แม้กระทั่ง เสาร์ อาทิตย์ เป็นเหมือนครูแพทย์คนแรกของการเป็นกุมารแพทย์ให้กับตัวเองค่ะ และยังเป็นแบบอย่างของนักบริหารที่พัฒนาวอร์ดเด็กของ รพ.ค่ายฯ จนมีชื่อเสียง จากนั้นตัดสินใจมาเรียนแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในช่วงเวลา 3 ปี เรามีความประทับใจอาจารย์ในสาขาโรคติดเชื้อมาก ๆ ค่ะ อาจารย์น่ารักมาก ไม่ว่าจะเป็น ศ.เกียรติคุณ พ.อ.หญิง พญ. ศรีลักขณ์ สิมะเสถียร พ.อ. รศ. นพ. วีระชัย วัฒนวีรเดช พล.ต.หญิง พญ. ฤดีวิไล สามโกเศศ พ.อ.(พ) นพ. พิรังกูร เกิดพานิช และที่สำคัญอาจารย์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาเป็นหมอโรคติดเชื้อ คือ ศ.เกียรติคุณ นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ค่ะ ในสมัยนั้น อาจารย์มาแกรนด์ราวนด์โรคติดเชื้อให้โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าทุกสัปดาห์ ก็ประทับใจอาจารย์มาก ๆ ในความเป็นพหูสูตรอบรู้ในทุกเรื่อง รวมทั้งความเป็นครูของอาจารย์ค่ะ เลยตัดสินใจมาเป็นเฟลโล่ทางด้านโรคติดเชื้อในเด็กที่ศิริราชค่ะ เป็นโอกาสที่ทำให้รู้จัก ศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และ รศ. นพ. นิรันดร์ วรรณประภา และ ศ. นพ. เสน่ห์ เจียสกุล ค่ะ ที่ศิริราชงานหนักมาก ตอนนั้นมีเฟลโล่แค่ 2 คน ทำงานสลับกับ พญ. รังสิมา โล่ห์เลขา เดือนเว้นเดือนกัน 2 ปีค่ะ คนไข้เยอะ อาการหนัก และมีความซับซ้อนมาก แต่เราก็มีความสุขค่ะ สนุกท้าทาย มาทำงานแต่เช้ามาก กลับบ้านดึกมากค่ะ แต่ทำให้เราเก่ง เรียนอยู่ 2 ปี อ.กุลกัญญา ก็ชวนให้อยู่ต่อเป็นสตาฟที่ศิริราช เรารู้ตัวแล้วว่าระหว่างที่เราทำงานดูคนไข้ เราชอบสอนน้อง ๆ การอยู่โรงเรียนแพทย์จึงเป็นสิ่งที่ใช่ตัวตนของเราค่ะ
จากนั้นได้มีโอกาสไปเรียนต่อเป็นเฟลโล่ที่ The Hospital for Sick Children, University of Toronto ประเทศแคนาดา เป็นเวลา 3 ปี เรียนทางด้านโรคติดเชื้อในเด็กเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ปลูกถ่ายไขกระดูก และอวัยวะต่าง ๆ เพราะหลังจากจบโปรแกรมเฟลโล่ 2 ปีที่เมืองไทย รู้ตัวเลยว่า ตัวเองยังไม่ค่อยมั่นใจ เวลาที่เราดูผู้ป่วยที่เปลี่ยนอวัยวะ ซึ่งตอนก่อนที่จะไปเมืองนอก ที่ศิริราชเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกได้แล้ว เปลี่ยนตับ และเปลี่ยนไตได้แล้ว แต่เซ็นเตอร์ที่ไปเรียนมีชื่อเสียงอย่างมาก เรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะ เปลี่ยนตับ ไต หัวใจ ปอด ลำไส้ และตับอ่อนค่ะ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์มาก ๆ เลยค่ะ และเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองมากขึ้น จริง ๆ fellowship program 2 ปีค่ะ แต่ในปีที่ 3 เราได้ขอ Prof. Upton Allen ซึ่งเป็นหัวหน้าโรคติดเชื้อที่นั่น และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการดูแลผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ว่าในปีที่ 3 จะขอดูเฉพาะผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำและเปลี่ยนอวัยวะ เลยเป็นเหมือนผู้ช่วย staff อีก 1 ปีค่ะ อยู่จนเหมือนบ้าน รู้จักทุกคนดี พยาบาล พนักงานขาย Starbucks เรารับเงินเดือนที่โน่น 3 ปี รวยเลยนะคะ แต่ก็ตัดสินใจว่าต้องกลับมาตอบแทนประเทศ ตอบแทนศิริราช พอกลับมาเดินตรงลานพระราชบิดาที่ รพ.ศิริราช ทำให้รู้สึกว่านี่แหละคือบ้านที่แท้จริงของเรา และอยู่ที่ศิริราชมา 17 ปีจนถึงปัจจุบันค่ะ
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายด้านการบริการ คือ การดูแลคนไข้เป็นเหมือนดูแลคนในครอบครัวของเรา คือ ต้องทำให้เต็มที่ที่สุด ทำอย่างไรให้ลูกเขาหายและได้กลับบ้านไปด้วยรอยยิ้ม
เป้าหมายทางด้านการเรียนการสอน นั่นคือสิ่งที่เรารัก และเป็น passion ในการสอนบางอย่างไม่ต้องพูดแต่ต้องทำให้เห็น ทุกวันนี้บอกลูกศิษย์เสมอว่าเวลาที่เราดูคนไข้ทุกคน ต้องคิดว่าถ้าคนไข้ที่อยู่ข้างหน้าเราคือ ลูกของเรา ถ้าเราจะดูแลรักษาเขาอย่างไร ต้องทำอย่างนั้นกับคนไข้ หรือถ้าเราเป็นคนไข้ เราอยากเจอหมออย่างไร เราต้องทำตัวอย่างนั้น ก่อนตรวจคนไข้ทุกคน ต้องล้างมือ เวลาตรวจคนไข้เจอคุณตาคุณยายของคนไข้ เรายกมือไหว้สวัสดีก่อน หรือคนไข้เอาของเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากให้ เราก็ขอบคุณเค้าเหมือนญาติผู้ใหญ่ นั่นเหมือนกับเป็นหนึ่งในโรลโมเดลที่ทำให้นักเรียนแพทย์เห็นว่า เรามีความเมตตากรุณาคนไข้ เราเป็นหมอเราก็ไม่ใช่ผู้วิเศษค่ะ
เป้าหมายด้านงานวิจัย ก็เป็นอีกพันธกิจของการเป็นครูแพทย์เช่นเดียวกัน เราต้องพัฒนาค้นคว้าทั้งด้านโรคติดเชื้อ ยาต้านจุลชีพและวัคซีน การทำวิจัยนั้นประโยชน์จะตกอยู่กับคนไข้ เขาก็ได้ยาที่ดีได้วัคซีนที่ดี เราก็ได้องค์ความรู้ที่ไปพัฒนาต่อยอดในการมาดูแลและป้องกันคนไข้ในอนาคตต่อไปค่ะ
เป้าหมายของความเป็นแม่ ความบาลานซ์ในชีวิตไม่ค่อยดีค่ะ ทำงานเยอะ ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกเคยถามลูกว่า คุณแม่ทำงานที่ศิริราช ได้ช่วยคน แต่ไม่มีเงินเยอะ ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก แล้วลูกโอเคไหม ยังอยากให้คุณแม่ทำงานที่ศิริราชไหม เขาก็บอกว่าโอเค เขาอยากให้คุณแม่ทำงานนี้ต่อ ก็ต้องขอบคุณครอบครัวที่เข้าใจ ไม่เคยต่อว่า ด้วยเวลาน้อย ๆ ที่เรามีขอเวลาให้ลูก เลยไม่ได้ทำเอกชนหรือคลินิกนอกเวลาที่ไหน ก็พยายามจะบาลานซ์สมดุลของชีวิตให้ได้ในความเป็นครูแพทย์และความเป็นแม่ที่ดีค่ะ
เป้าหมายของการบริหาร ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรกิจกรรมเพื่อสังคม รับผิดชอบดูแลเรื่องผู้อุปการคุณ การระดมทุน และสิทธิประโยชน์ การมาทำหน้าที่ตรงนี้เป็นโอกาสที่ทำให้เราทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมได้พบปะคนดี ๆ อย่างเรื่องของการระดมทุน เรากำลังสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ซึ่งต้องใช้งบประมาณสำหรับตัวอาคาร 5,000 ล้าน เราได้งบฯ มา 2,000 ล้าน ภายใน 4 ปีนี้เราต้องหาเพิ่ม 3,000 ล้าน ตอนเข้ามารับหน้าที่ก็คิดไม่ออกเลยว่าเราจะหาได้อย่างไร แต่ปรากฏว่าต้องขอบคุณมาก ๆ ทุกคนช่วยกัน เราไม่ได้ทำได้แค่ 3,000 ล้าน แต่เรายังระดมทุนได้อีก 1,800 ล้าน เพื่อครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีกด้วยค่ะ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสทำรายการทั้งของ NBT ที่ให้ความรู้เรื่องสุขภาพ และรายการของสถานีศิริราช เป็นพิธีกร เป้าหมายคือ ให้ความรู้ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ยังจำได้ว่า รศ. นพ. นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่าเวลาเราดูคนไข้ ประโยชน์ที่ได้ คือ 1 คนต่อ 1 คน แต่สิ่งที่เรากำลังทำจะเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
เป้าหมายเกิดจาก ความตั้งใจทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะในบทบาทหน้าที่ใด เราต้องเต็มร้อย หรือคนรอบข้างจะบอกว่า วนัทปรียาเกินร้อยกับทุกเรื่องที่ทำ ตัวอย่างเช่น เรื่องดูแลคนไข้ มีผู้ป่วยเด็กโรคเอสแอลอีซึ่งติดเชื้อรา Aspergillosis ในสมอง ผ่าตัดไปหลายรอบ ในสมัยนั้นยาต้านเชื้อราที่ใช้ซึ่งเป็นยาที่ดีที่สุด แต่ไม่ครอบคลุมด้วยสิทธิ์ 30 บาท ค่ายาราคาแพงมาก เกินหลักแสนต่อเดือนและต้องรักษานานเป็นปี มาทราบว่าคุณแม่คนไข้ขายทรัพย์สินจนเกือบหมด เหลือรถไว้ขนส่งกล้วยไม้ กำลังจะขาย พอตัวเองทราบก็บอกคุณแม่ว่าห้ามขาย เราต้องช่วยกัน ทางศิริราชก็ช่วยเหลือค่ายา จนตัวเองถูกผู้อำนวยการเรียกพบว่า ใช้ยาที่มีราคาสูงมาก ทางศิริราชเองก็มีภาระในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสจำนวนมาก โรงพยาบาลต้นสังกัดก็ช่วยไม่ไหว เลยตัดสินใจกับคุณแม่ทำจดหมายถึงสำนักพระราชวัง และเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่รับเป็นคนไข้ในพระบรมฯ ช่วยค่ายารักษาและเด็กยังมีชีวิตรอดถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ในทุกวันปีใหม่ เด็กคนนี้จะทำการ์ดเขียนด้วยลายมือ เขียนตั้งแต่ผิด ๆ ถูก ๆ จนเขียนสวยงามมาขอบคุณคุณหมอที่เป็นแม่พระของหนู ได้รับการ์ดทุกปีก็ชื่นใจค่ะ
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
ด้วยความที่เป็นเหมือน perfectionist เป็นคนมาตรฐานสูง ก็เต็มร้อยกับทุกเรื่องที่เราอยากจะทำ เลยต้องใช้พลังเยอะเป็นพิเศษ และถ้าอะไรไม่สมบูรณ์แบบก็จะไม่ปล่อยให้หลุดออกไป จน อ.กุลกัญญา เจ้านายเคยบอกว่า ต้องลดความ perfectionist ทุกอย่างลงไปบ้างค่ะ
ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหาเหนื่อยหรือท้อปรึกษากับใคร
ถ้าเป็นเรื่องงานโชคดีที่สุดที่มีเจ้านาย อย่างศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ถ้ามีปัญหาเรื่องงานเราจะไปปรึกษาและคุย แล้วอาจารย์พูดเลยว่า ปัญหาทุกเรื่องมีทางแก้ และเป็นอย่างนั้นจริง ๆ อาจารย์เป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือทุกเรื่องจริง ๆ ตั้งแต่สมัยเป็นเฟลโล่มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น เราก็จะพยายามทำสิ่งที่อาจารย์ทำเป็นตัวอย่างว่าในที่สุด ถ้าเราต้องเป็นเจ้านายคน ต้องเป็นแบบนี้ต้องให้เขาเข้าถึงได้ ต้องเป็นที่ปรึกษา และที่สำคัญให้โอกาสลูกน้องและผลักดันลูกน้องสุด ๆ ค่ะ
ถ้าเป็นเรื่องอื่น ๆ ก็โชคดีที่มีครอบครัวที่เข้าใจและคอยซัพพอร์ต ทั้งฝั่งตัวเองและครอบครัวสามี นพ. กันย์ พงษ์สามารถ สามีเป็นคุณหมอเด็กที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ก็จะเข้าใจ และจะผลัดกันมาช่วยดูลูก เขาน่ารัก ถ้ามีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรที่เราไม่ค่อยแน่ใจ ก็จะให้คำปรึกษาดี ๆ ได้ และคุณย่า พญ. ศศิธร พงษ์สามารถ ท่านก็เป็นหมอเด็ก เมื่อเรา 2 คนยุ่งจริง ๆ เราก็จะอุ่นใจที่มีคุณย่าคอยช่วยดูแลลูก ๆ แทนให้ค่ะ
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรก ศ.เกียรติคุณ พญ. ชนิกา ตู้จินดา สมัยที่เป็นเด็ก เราก็ดูรายการพบหมอชนิกาทางโทรทัศน์อาจารย์เป็นต้นแบบที่ดีงามมากค่ะ เป็นคุณครูน่ารักอาจารย์ไม่ใช่เพียงเป็นอาจารย์แพทย์ แต่อาจารย์ทำเพื่อสังคม ให้องค์ความรู้กับประชาชน ทุกวันนี้ท่านยังมาให้กำลังใจในการทำงานกับเราเสมอค่ะ
ท่านที่สอง ศ.เกียรติคุณ นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อาจารย์มาราวนด์โรคติดเชื้อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทุกสัปดาห์สมัยเป็นเรสซิเดนท์ เราก็จะต้องเตรียมเคสที่จะพรีเซ้นต์ให้อาจารย์ รู้สึกสนุกทุกครั้ง อยากเรียน รู้สึกอาจารย์สมาร์ทจังเลย รู้ทุกอย่าง ไม่เฉพาะทางการแพทย์ อาจารย์พหูสูตจริง ๆ เห็นอาจารย์ได้ทำประโยชน์ให้กับวงการแพทย์อย่างมหาศาล ก็เป็นแบบอย่างที่น่าเคารพค่ะ
ท่านที่สาม ศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์เป็นทั้งคุณครู เป็นเจ้านาย เป็นเพื่อนร่วมงาน ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เห็นว่านอกจากงานวิชาการ ซึ่งต้องดีเยี่ยมแล้ว ในฐานะนักวิชาการเรายังสามารถผลักดันสิ่งต่าง ๆ ในด้านนโยบาย เข้าไปทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ต่อสู้เพื่อให้เด็กไทยได้รับวัคซีน และยาที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นแบบอย่างของนักวิชาการนักสู้ค่ะ
ท่านที่สี่ ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นต้นแบบทางด้านการบริหาร ที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เวลาคุยกับอาจารย์เหมือนได้คุยกับนักปราชญ์ อาจารย์เป็นคนที่ฉลาดรอบรู้ในทุกเรื่อง ขณะเดียวกัน อาจารย์ให้โอกาส Compromise ไม่ว่าเราจะนำเสนอโครงการอะไรเพื่อศิริราช ซึ่งบางครั้งเราอาจคิดนอกกรอบ ท่านให้โอกาสและยอมรับความคิดใหม่ ๆ นอกจากเรายังสัมผัสได้ว่าในความเก่ง ความสตรอง อีกด้านหนึ่งท่านมีความอ่อนโยน ความน่ารัก มีเมตตากรุณากับผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอค่ะ
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
“I do not want you to be only a doctor but I also want you to be a man.” คำสอนของพระราชบิดา ที่ยึดถือในการเป็นแพทย์ ท่านสอนพวกเราว่าไม่ใช่เป็นแค่หมอ ต้องเป็นมนุษย์ด้วย ดังนั้น เวลาที่ดูแลคนไข้ เราไม่ได้ดูแลแค่โรคทางกาย แต่ต้องห่วงใยและดูแลจิตใจทั้งของผู้ป่วยและครอบครัวด้วย นอกจากนี้ ถ้าเรามีโอกาสควรตอบแทนสังคมและประเทศชาติ สำหรับการทำงานจะตั้งใจ มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ และทำอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด แล้วเชื่อว่าทุกอย่างจะออกมาดีที่สุดเองค่ะ
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
ทิศทางในอนาคตสำหรับการแพทย์ไทยมีการพัฒนาไวมาก มีความก้าวหน้าทั้งในแง่ของเทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้ต่าง ๆ ไปไกลมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence (AI) ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในทางการแพทย์ มีหุ่นยนต์ผ่าตัด ส่งยา ช่วยดูแลคนไข้ Precision medicine อาจารย์ที่ศิริราชเราก็ทำ เราอาจจะทำนายได้ว่าในอนาคตใครจะมีความเสี่ยงกับการเป็นโรคมะเร็งชนิดไหน หรือถ้าโชคไม่ดีรู้ว่าเป็นแล้ว ทำนายได้ว่าใช้ยาอะไรจะเหมาะสม เราต้องตามองค์ความรู้ให้ทัน
แต่ในขณะเดียวกันทิศทางที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ เรื่องสุขภาวะ คือการหันกลับมาดูแลสุขภาวะทั้งทางร่างกาย ใจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างที่เราพูดกัน “Prevention is better than cure” ในสังคมเราเดี๋ยวนี้เริ่มหันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น จะใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัยห่างไกลจากโรค ความเจ็บป่วย อะไรที่จะเสี่ยงกับการเป็นมะเร็งก็หลีกเลี่ยงพยายามทำพฤติกรรมของตัวเองให้ดี มีวัคซีนป้องกันได้ก็ควรป้องกัน ออกกำลังกาย และช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม
ทิศทางของโรคติดเชื้อ ในเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยาที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากว่าเรามีการใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างมากมาย เกินจำเป็น หรือว่าโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ ที่เกิดมากขึ้น หมอโรคติดเชื้อก็คงต้องทำงานหนักขึ้น การให้ความรู้แก่แพทย์เรื่องการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเกินความจำเป็นแล้ว ยังต้องให้ความรู้กับประชาชนด้วย เพื่อให้ดูแลสุขภาพและช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้ค่ะ
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ และแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ ความรู้ไปไวมาก ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ต้องอัพเดทตัวเองให้ทันกับความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ว่าขณะเดียวกันเราไม่ได้เป็นแค่ความเป็นแพทย์เท่านั้น ต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ด้วย คนไข้เป็นทุกข์มาหาเรา เราต้องดูแลเค้าทั้งกายและใจและดูแลคนไข้ทุกคนอย่างดีที่สุด เหมือนญาติของเรา
นอกเหนือจากบทบาทของเราในความเป็นแพทย์ เราทำได้มากกว่านั้น ถ้าเรามีโอกาสควรตอบแทนสังคมและประเทศชาติค่ะ เวลาสอน เราได้เห็นนักศึกษาแพทย์ ลูกศิษย์ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ อันที่จริงเขามีความสามารถเยอะ เราเชื่อว่าทุกคนมีดีอยู่ในตัวเอง ลองมองหาศักยภาพตรงนั้นและดึงออกมา เราจะทำอะไรดี ๆ เพื่อสังคม แต่ต้องทำโดยไม่หวังผลตอบแทน แล้วจะประสบความสำเร็จ อีกทั้งความสุขในใจอันเกิดจากการทำสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นทันทีค่ะ