CIMjournal
นพ. อนุชา อภิสารธนรักษ์

อาจารย์ นพ. อนุชา อภิสารธนรักษ์ สาขาโรคติดเชื้อ


“ถ้าเอาแต่เนื้อตำราเป็นตัวยึดสรณะ วินิจฉัยคนไข้ไม่ได้แน่ ต้องคิด วิเคราะห์ มีความคิดนอกกรอบ”

ศ. นพ. อนุชา อภิสารธนรักษ์
หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 79 ปี 2562

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อ

จบมัธยมจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ตอนนั้นพ่ออยากให้เป็นหมอ เนื่องด้วยว่าในครอบครัวมี 3 เจนเนอเรชั่นเป็นหมอ คือ อากงกับคุณอา โดยตอนเด็ก ๆ ก็ไม่มีไอเดียอะไร อาศัยเรียนเก่งและชอบวิทย์ ก็เลยเข้ามาทางแพทย์ได้ ก็สอบระบบเอนทรานซ์ทั่ว ๆ ไป ตอนนั้นอยากเรียนหมอฟัน จึงเลือกแพทย์รามาฯ อันดับแรก อีก 5 อันดับ เลือกทันตแพทย์หมด สรุปได้อันดับแรกที่ คณะแพทย์รามาฯ

ระหว่างเรียนที่คณะแพทย์รามาฯ ก็ราบรื่นปกติทั่วไป แต่มารู้สึกเข้าใจชีวิตการเป็นแพทย์มากขึ้น ตอนที่เป็นเอ็กซ์เทิร์น และเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ รพ.ธรรมศาสตร์ เพราะตอนนั้นเป็น รพ. แค่ 200 เตียง แพทย์ใช้ทุน เวลาทำงาน ต้องดูแลทั่ว รพ. เลย เรียกว่าถูกตามทุก ๆ 10 นาที ตั้งแต่ผ่าตัดคลอดผ่าตัดไส้ติ่ง ดูเคสไอซียู ติดเชื้อ เรียกว่าภายในวันเดียว ได้วนทั้งสูติ ศัลย์ เมด เด็ก ใช้ทุนอยู่ 3 ปี ช่วงนั้นธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็น รร.แพทย์ เปิดใหม่ต้องการสตาฟเพิ่มอีกเยอะมาก มีการเปิดทุน ผมก็สมัครไปเรียน และสอบทุนของ กพ. ไปเรียนแพทย์ประจำบ้านที่ The George Washington University ที่ Washington, D.C., U.S. จากนั้นก็ไปที่ Washington University ที่ St. Louis เรียนเฉพาะทางทางด้านโรคติดเชื้อ และ Subspecialty ทางด้านการควบคุมการติดเชื้อใน รพ.

ถามว่าทำไมเรียนทางด้านอายุรศาสตร์ และเฉพาะทางทางด้านโรคติดเชื้อ ส่วนตัวแล้วเราไม่ชอบหัตถการ ไม่ถนัดสื่อสารกับเด็ก ไม่ชอบด้านสูต เป็นคนที่ชอบตรรกะ ชอบเหตุและผล เลยเลือกมาทางอายุรศาสตร์ และสาขาโรคติดเชื้อก็เป็นอะไรที่ทางธรรมศาสตร์ยังขาดอยู่ ตอนอยู่ที่ The George Washington University ในช่วงแรกก็มีปัญหาทางด้านภาษา ต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะเราไปอยู่ในที่ที่คนไข้ส่วนใหญ่เป็นคนดำ ภาษาเขาจะอีกแบบ สำเนียงฟังยาก ศัพท์แสลงเยอะ การราวด์คนไข้ก็เหมือนเป็นการฝึกภาษาไปในตัว พอจบแล้วก็กลับมาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ กลับมาก็เป็นอาจารย์สอนโรคทั่วไปกับโรคติดเชื้อ ต่อมาภายหลัง คณะมีบุคลากรมากขึ้น ก็มาเน้นเฉพาะทาง

 

สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

ภูมิใจมากที่สุด 2 เรื่องแรกเลย คือ การได้เป็นแพทย์ การเป็นแพทย์มีโอกาสได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้เยอะ ตอนสมัยเป็นนักเรียนเราก็ไม่รู้ มาเริ่มรู้ก็ตอนที่ได้สัมผัสกับคนไข้ช่วงปีหลัง ๆ และอีกเรื่องคือ การได้มีส่วนร่วมในการถวายการรักษารัชกาลที่ 9 ก็เป็นอีกความภาคภูมิใจที่สำคัญ

เรื่องต่อมา คือ การได้รับโอกาสในการทำวิจัย เกี่ยวกับการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และมีการนำไปใส่ในไกด์ไลน์เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก และได้รับหลายรางวัลในระดับนานาชาติ โดยบางรางวัลไม่ได้สมัครด้วยซ้ำ แต่ได้มาเนื่องจากเค้าเห็นประโยชน์ของงานที่เราทำจริง ๆ ก็ค่อนข้างแปลกใจ เพราะเริ่มแรกเราคาดหวังแค่การสร้างข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ดี ๆ ให้กับวงการแพทย์เมืองไทยก็เป็นความภูมิใจที่ดีเกินคาด

เรื่องสุดท้าย คือ การมีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่ พี่น้องรักใคร่กัน ไม่มีใครเกเร มีลูก มีภรรยา ทุกคนก็ไม่มีปัญหา รักใคร่กลมเกลียวกัน ตรงนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งที่เราโชคดีมาก ทำให้ชีวิตค่อนข้างราบรื่นในภาพรวม


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ในมุมมองส่วนตัวมองว่า การได้มาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแพทย์เปิดใหม่ ทำให้เราได้รับโอกาสมาก ทั้งมีโอกาสได้ไปศึกษาต่างประเทศ การได้เป็นอาจารย์แพทย์ ได้พบคำถามมากมายที่ไม่มีในตำรา กลับมาก็ได้รับคำแนะนำที่ดีหลายประการจาก ศ. นพ. สมหวัง ด่านชัยวิจิตร แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์ในส่วนของตัวเองแล้ว ในเรื่องปัจจัยสู่ความสำเร็จ ผมมองดังนี้

ปัจจัยแรก เวลาทำอะไรก็จะมีสมาธิกับสิ่งนั้น ไม่วอกแวก อย่างตอนเรียนที่อเมริกา Prof. Gerald Medoff ท่านอายุ 80 ปี แล้ว ก็บอกว่าเรามีลักษณะเหมือน Forest Gump ในหนังพระเอกอาจบกพร่องบางเรื่อง แต่เขาจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่มีวอกแวก ทำให้ประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นวิ่งรอบอเมริกา ตีปิงปองจนเป็นแชมป์ เป็นทหารเกณฑ์ ก็ทำทุกอย่างที่ครูฝึกบอกได้ดีกว่าคนอื่น ท่านบอกว่าเราเหมือนในเรื่องของการมีสมาธิในเรื่องที่ทำ ไม่วอกแวก ไม่มีการต่อเติมความคิด มีสติอยู่กับปัจจุบัน คิดวิเคราะห์เข้าไปในเรื่องนั้นอย่างมุ่งมั่น เรื่องนี้เป็นปัจจัยข้อแรก

ปัจจัยที่สอง เป็นคนที่มีพลังงานสูง มีอาจารย์บางท่านบอกว่า เราเป็นคนที่มีพลังงานในตัวสูง เข้าใจว่าถ้าเป็นจริงก็คงจะเป็นอุปนิสัยส่วนตัว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจได้รับการถ่ายทอดยีนจากพ่อ เพราะพ่อเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันแม้ท่านอายุใกล้ 80 แล้ว ก็ยังคงทำงานอยู่

ปัจจัยที่สาม เกี่ยวข้องกันกับปัจจัยแรก คือ เราใช้หลักธรรมในเรื่องของ “อิทธิบาท 4” เรื่อง “ฉันทะ” ความชอบ “วิริยะ” ความเพียร “จิตตะ” ความมุ่งมั่น เหมือน Forest Gump เหมือน Albert Einstein ที่พุ่งเข้าไปทำสิ่งนั้นอย่างเดียว อยู่กับปัจจุบันและพุ่งเข้าไป มีสติ มีสมาธิอยู่กับปัจจุบันและ “วิมังสา” การพิจารณา ทบทวน อันนี้เป็นองค์ธรรมของความสำเร็จ น่าจะเป็นเหตุเป็นผลประกอบกัน


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

ปัญหาหลัก ๆ ที่ผมเจอ อาจจะคล้ายกับในสาขาอื่น ๆ คือ เมื่อเราไปศึกษากลับมา แล้วจะนำความรู้มาใช้ ปรากฏว่าที่เมืองไทยยังไม่พร้อมในหลาย ๆ เรื่อง คร่าว ๆ ก็จะเป็นเรื่องของทรัพยากรกับเรื่องของวิธีการปฏิบัติซึ่งบางเรื่องเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับบ้านเราในสมัยนั้น

ทรัพยากรก็ต้องหากันไป แต่ในส่วนวิธีการปฏิบัติ เราก็จะเน้นการสร้างความเข้าใจ เน้นการทำงานเป็นระบบ โดยยึดหลักวงจรคุณภาพ (PDCA) ได้แก่ วางแผน ลงมือปฏิบัติ ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไข อย่างการทำงานเราก็จะมีการประชุมคุยกับหัวหน้าของส่วนงานที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อมูลให้เขาเชื่อเราก่อน จากนั้นเราก็จะช่วยเขาทำเป็นโปรโตคอลขึ้นมา ขั้นลงมือปฏิบัติก็ต้องเข้าไปช่วยมีการตรวจสอบทุก ๆ อาทิตย์ หากเกิดปัญหา เราก็ต้องเข้าไปช่วยเขาแก้ไข ปรับปรุง โดยอาศัยเรื่องการที่เรามีสมาธิ และมีความมุ่งมั่นทำงานตามหลักอิทธิบาท 4 ตัวอย่างเช่น ในการเป็นผู้บุกเบิกนำ Bundle of care หรือมาตรการที่เป็นแพ็กเกจมาลดการติดเชื้อใน รพ. โดยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ไม่เคยมีใครทำเป็นระบบ พอเราทำเป็นระบบเสร็จ ก็กลายเป็นเรื่องแปลก เราก็เริ่มจาก การวางแผน สอนเขาก่อน โชว์ข้อมูลให้เขาดู ให้ความรู้เขาโดยมีการทดสอบทั้งก่อนและหลัง เพื่อลดการติดเชื้อจากการใส่ท่อช่วยหายใจ การใส่สายสวนหลอดเลือด การใส่สายสวนปัสสาวะ อย่างเวลามีใครติดเชื้อเราก็วิเคราะห์ไปแต่ละเคส ว่าจริง ๆ มีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ ที่ต้องปรับปรุง หรือทำดีแล้ว ก็ตรวจสอบเป็นระบบ ซึ่งหลาย ๆ เรื่องในปัจจุบัน ก็ทำกันเป็นปกติไปแล้ว


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

เรื่องแรก จะแก้ไขในเรื่องทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และอีคิวต่าง ๆ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่จะเก่งเรียน แต่ในเรื่องอีคิว เรื่องสื่อสาร ไม่ค่อยมีโรงเรียนที่เรียนก็เป็นโรงเรียนสมัยแบบเก่า เรียนท่องหนังสือ ดูตำรา ซึ่งตรงนี้อาจารย์ไม่ได้โปรโมทให้เรามีความคิดริเริ่ม นี่เป็นระบบทั่วไปของโรงเรียนในอดีตเพราะปัจจุบันมีโรงเรียนอินเตอร์ ระบบการเรียนเน้นให้คิดเอง ทำเอง มีไอเดีย ตั้งแต่เป็นนักเรียน ไม่ต้องมาแนะแนวแล้ว เรารู้แล้วว่าเราอยากเป็นหมอตั้งแต่ต้น เพราะเรารู้แล้วว่าตัวเราคืออะไร นี้เป็นส่วนสำคัญของระบบการศึกษาสมัยใหม่

เรื่องที่สอง จะปฏิบัติธรรมให้เร็วขึ้น ยิ่งประกอบคู่กับการเรียนได้ก็ยิ่งดี เพราะการปฏิบัติธรรมจริง ๆ เป็นความลับของความสำเร็จแบบหนึ่ง การมีสติอยู่กับปัจจุบัน การมีจิตที่เป็นสมาธิพุ่งไปกับสิ่งที่ทำ จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา พวกนี้เหมือนกับเราติดอาวุธให้ครบมือ การทำงานเราก็จะมีประสิทธิภาพ เช่น ผมไปตีกอล์ฟ ผมเจอผู้จัดการสนามกอล์ฟ เขาตีกอล์ฟแม่นมาก เขาบอกว่าหมอรู้ไหม เวลาฝึกจะต้องมีสมาธิอย่างยิ่ง ฝึกแล้วจะรู้เลยว่าวิถีลูกจะเป็นอย่างไร จินตนาการล่วงหน้าได้เลยว่าแต่ละลูกจะเป็นอย่างไร แล้วเขาต้องอยู่กับปัจจุบัน เวลาตีออกไป เกิดสิ่งที่ผิดพลาดขึ้น ก็ต้องรีบดับความคิดฟุ้งซ่านที่จิตให้เร็วที่สุด แล้วเริ่มใหม่ ซึ่งเขาตีอันเดอร์ ตีระดับโปรผมบอกสิ่งที่เขาพูดมันคือ ปฏิบัติธรรมนะ ที่ผู้จัดการปฏิบัติคือในส่วนของสติ สมาธิ เพื่อความสำเร็จได้ทางโลกียธรรม (การทำงานในโลก)


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรกเลยคือ พ่อ ท่านเป็นต้นแบบด้านการสู้ปัญหา ไม่ย่อท้อ ตอนเด็ก ๆ ท่านจนมากไต่เต้ามาจากศูนย์ พ่อไม่มีเวลาเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค และไม่ย่อท้อ ท่านอาศัยเรียนตอนกลางคืนจนได้รับปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์ จนกระทั่งท่านเปิดบริษัทโฆษณาเป็นที่ยอมรับของคนทั่วประเทศ เป็นบริษัทของคนไทยบริษัทแรกที่ยืนหยัดได้จนถึงปัจจุบัน

คนที่สอง Prof. Vicky Fraser กับ Prof. Linda Mundy ท่านเป็นต้นแบบด้านการสอนวิธีการในการทำงานที่เป็นระบบ สอนวิธีคิด วินัยในการทำงาน

คนที่สาม Dr. Medoff ท่านเป็นต้นแบบในด้านการตรวจรักษาคนไข้ ท่านเป็นหมอที่ฉลาด ดูคนไข้ละเอียด ใส่ใจกับคนไข้ ใช้เวลากับคนไข้นานในการซักประวัติ ดูอดีตขุดมาเลยตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว มารีวิวกันตรวจคนไข้เยอะ

คนที่สี่ Dr. Powderly ท่านเป็นต้นแบบในด้านวิสัยทัศน์ เขามองอะไรจะมองกว้าง มองภาพเห็นชัดเจนว่า อนาคตจะเกิดอะไร คุณต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ เขาวางแผนล่วงหน้า ทำให้ผมรู้จักวางแผน รู้จักคิดนอกกรอบ จากการที่ได้สัมผัสเขา เขาก็เป็นประธานของ Infectious Diseases Society of North America (IDSA) เมื่อปีที่แล้วด้วย

คนที่ห้า ศ. นพ. สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ท่านเป็นแบบอย่างในการเสียสละในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ผมยึดหลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และมองคนอื่นด้วยความเมตตา มีมนุษยธรรม สรุปง่าย ๆ คือ มีความเป็นมนุษย์ที่จริง (being human) ตรงนี้ทำให้เข้าใจผู้อื่นอย่างที่เขาเป็นเพราะมนุษย์นั้นไม่มีใครสมบูรณ์แบบครบถ้วน แพทย์ส่วนใหญ่ยึดกับทิฐิ กฎเกณฑ์ ถ้าเราพิจารณาผู้อื่นด้วยมนุษยธรรม ความเมตตา และความอะลุ้มอล่วย ผมว่าเราจะเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นและจะเกิดความขัดแย้งน้อยลง ซึ่งโดยลักษณะการทำงานของอาชีพแพทย์ ก็เป็นกุศลอยู่แล้ว ถ้าเราทำทุกอย่างในอาชีพให้ถูกต้อง ก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

แพทย์เราถูกเน้นเกี่ยวกับวิชาการโดยส่วนเดียว เพราะวิชาการสอนให้เก่ง เด็กก็จะชื่นชอบอาจารย์ที่เก่ง ยึดเป็น role model แต่ความเป็นจริง สิ่งที่สำคัญมากกว่า ก็คือ จริยธรรม คุณธรรมของอาจารย์ ซึ่งไม่ได้ถูกไฮไลท์ในสถาบันมากนัก อันนี้จะเป็นปัญหา เด็กที่เน้นแต่ความเก่ง อาจเห็นแก่ตัว เพราะความเก่งไม่ได้หมายถึง ความดี ขาดความเป็นมนุษยธรรมหรือเปล่าในบางกรณี ซึ่งอาจจะนำไปสู่เกิดคดีฟ้องร้อง ตรงนี้ผมคิดว่าการแพทย์เมืองไทยปัจจุบันควรจะเสริมทางด้านจริยธรรมและคุณธรรมให้มากยิ่งขึ้น

นโยบายทางด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน ยังไม่ค่อยเสถียร ทำให้คุณภาพการรักษาลดลงโดยตัวของมันเอง เพราะโรงพยาบาลจะต้องควบคุมต้นทุนเป็นหลัก โดยขาดการพิจารณาถึงความเป็นมนุษยธรรม ว่าประหยัดแล้วจะเกิดอะไร รวมทั้งการควบคุมคุณภาพยา ทุนวิจัยก็น้อยลง องค์ความรู้ใหม่ก็น้อย นี้ก็เป็นปัญหาลูกโซ่อยู่


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์ทั่วไป 1) มีอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นองค์ธรรมของความสำเร็จ 2) มีความสุขในการทำงาน เพราะความสุขจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้น ถ้าไม่มีความสุขก็ทำงานไม่ได้นาน 3) ต้องศึกษาศาสตร์อื่น ๆ นอกเหนือจากการแพทย์ให้มาก มีไอเดียกว้างขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย และต้องศึกษา IT ให้ดี ๆ เพราะในอนาคตเทคโนโลยี และโรบอต จะมีบทบาทมาก

สำหรับแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ 1) มีความคิดนอกกรอบให้มากขึ้น สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งน้ำท่วม 3 เมตร ที่โรงพยาบาลในปี 2554 ก็เกิดโรคแปลก ๆ มาก ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ในตำราก็ไม่มีเขียน ตรงนี้ถ้าเอาแต่เนื้อตำราเป็นสรณะ วินิจฉัยคนไข้ไม่ได้แน่ ต้องคิด วิเคราะห์ มีความคิดนอกกรอบ 2) รับฟังความเห็นของผู้อื่น มีคนไข้คนหนึ่งถามผมว่า เขาเป็นไข้หวัดนกหรือเปล่า ผมก็ต้องถามว่าทำไมคุณถึงคิดว่าเป็นไข้หวัดนก เราก็ค้นต่อ ปรากฏว่ากลายเป็นไข้หวัดนกเคสแรกของโลก ซึ่งไม่ได้มาด้วยอาการทางเดินหายใจ แต่มาด้วยอาการท้องเสียอย่างเดียว 3) ควรจะทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ทางการแพทย์ใหม่ ๆ บางคนจบแล้วไม่ชอบงานวิจัย ถ้าดูแต่คนไข้ คุณไม่รู้หรอกว่าอีก 5 ปี โลกมันเปลี่ยนแปลงไป ความรู้ที่คุณรู้มันเปลี่ยนแล้ว ความรู้มันจริงเฉพาะปัจจุบัน อนาคตมันเปลี่ยนแล้ว การวิจัยถึงจะเกิดองค์ความรู้ต่อเนื่อง 4) ต้องมีจริยธรรม คุณธรรมเพื่อดำรงความงดงามของวิชาชีพ ศ. นพ. อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านให้โอวาทตอนที่ผมจบว่า “เราไม่ต้องการให้คุณเป็นเพียงหมอที่เก่ง แต่เราอยากให้คุณเป็นหมอที่ดีด้วย”

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก