CIMjournal
พญ. จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์

อาจารย์ พญ. จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์ สาขาโรคติดเชื้อ โรคเอดส์


“คนที่จะประเมินว่า โรงพยาบาลมีคุณภาพหรือเปล่า ควรเป็นคนไข้ หรือญาติคนไข้”

ผศ. (พิเศษ) พญ. จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์
โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี
กรรมการบริหารสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย
ประธานอนุกรรมการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 80 ปี 2562

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อ โรคเอดส์

เรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนชลกันยานุกูลชลบุรี แล้วสอบเข้ามัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท เด็กวิทย์สมัยนั้นถ้าไม่เรียนแพทย์ก็วิศวะ ส่วนตนไม่ได้มีอุดมการณ์แก่กล้าอะไร เลือกเอนทรานซ์อันดับแรกคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.1) อันดับ 2 คณะวิศวะจุฬาฯ (จฬ.2) ได้คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ข้าง รพ.รามาฯ 2 ปี ต่อที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี (รุ่นที่ 5)

ระหว่างเรียนแพทย์สนุกกับการทำกิจกรรมตอนปี 1 ออกค่ายอาสารุ่น 3 สร้างโรงเรียนที่หมู่บ้านป่ากอ อ.เดชอุดม ชีวิตชาวค่ายลำบากระคนสนุกสนาน กลับมาเป็นบรรณาธิการทำหนังสือ “Charity Night” จัดงานหาเงินเข้าค่าย ตอนปรีคลินิกปี 3 เป็นนักกีฬาแบดมินตัน ของมหาวิทยาลัยมหิดล มี อาจารย์ นพ. อมร ลีลารัศมี เป็นผู้จัดการทีม นั่ง (ส่วนใหญ่โหน) รถเมล์ศรีนครสาย 44 ลงท่าพระจันทร์ ข้ามฟากไปซ้อมที่ศิริราช กว่าจะกลับเกือบ 3 ทุ่ม ทำอย่างนี้เป็นเดือน ผลการแข่งขันมหาวิทยาลัยมหิดลได้เหรียญทองแดงแพ้จุฬาฯ รอบรองชนะเลิศ ภูมิใจมาก แต่ตัวเราต้องกลับมาสอบซ่อม Physiology เพราะไม่ได้เข้าเรียน/แล็บ สอบย่อยเก็บคะแนนก็ไม่ดี จำความรู้สึกวันที่รู้ว่าสอบตกต้องซ่อมได้อย่างดี (Hurt นะ เป็นอย่างนี้เอง) พอขึ้นปี 4 เลยเลิกชีวิตนักกีฬา เรียนอย่างเดียว แต่ยังทำกิจกรรม เป็นเลขานุการสโมสรนิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ทำโครงการอนามัยสัญจร รวมนักศึกษาแพทย์ทุกสถาบันสมัยนั้น จุฬาฯ รามาฯ ศิริราช เชียงใหม่ ราว 50 คน ไปสอนให้ความรู้นักศึกษาวิทยาลัยครูทางภาคอีสาน 5 จังหวัด ช่วง 14 ต.ค. 2516 อยู่ปี 5 เป็นเลขานุการสโมสรแพทยศาสตร์รามาธิบดี ประชุมเข้มข้นกันมาก บอกน้อง ๆ ว่าอย่าเป็นเลขาฯ เลย เลิกประชุมต้องมาสรุปพิมพ์รายงานการประชุมใช้พลัง และเวลามากมาย แต่คราวนี้ไม่เสียการเรียน ปี 6 ทำกิจกรรมของสโมสรแพทย์รามาธิบดี ร่วมกับ อ. ไพฑูรย์ คชเสนี อ. วราวุธ สุมาวงศ์ อ. พูนพิศ อมาตยกุล จัดดนตรีคลาสิก มีบัลเล่ย์ โดยคุณอารี สหเวชภัณฑ์ มาแสดง

พ.ศ. 2518 อินเทิร์นในรามาฯ ตอน Elective 1 เดือน อยากไปที่ไกล ๆ (เที่ยวด้วย ทำนองนั้น) ขออาจารย์ไปแม่ฮ่องสอนซึ่งไม่ใช่ โรงพยาบาลเลือกของหลักสูตร อาจารย์บอกว่าถ้าติดต่อเองได้ก็ให้ไป จดหมาย/โทรเลขติดต่อกับแพทย์ใหญ่ ไปอยู่ โรงพยาบาลขุนยวม 1 สัปดาห์ โรงพยาบาลแม่สะเรียง 1 สัปดาห์ และตัวจังหวัด 2 สัปดาห์ เป็นประสบการณ์ที่เยี่ยมยอดมาก จบอินเทิร์นออกไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลนราธิวาส 2 ปี (เม.ย. 2519 – 2521) ได้รู้จักสังคมและสาธารณสุขท้องถิ่นจริง ๆ เราไปกัน 7 คน (ศิริราช 6 คน รามาฯ เราคนเดียว) ผ่านมา 40 ปี เพื่อนใช้ทุนรุ่นเดียวกันยังรักใคร่ ติดต่อกันมาตลอด ถือว่า “The Seven” เป็นตำนานของโรงพยาบาลนราธิวาสจนปัจจุบัน

พ.ศ. 2521 เข้ามาฝึกอบรมอายุรศาสตร์ที่จุฬาฯ 3 ปี (เป็น Shock เล็ก ๆ ในชีวิตที่เส้นทางไม่ได้กลับมาเป็นแพทย์ประจำบ้านที่รามาฯ) ขอขอบคุณบรรยากาศและโอกาสในจุฬาฯ ทำให้รู้จัก เพื่อน พี่ น้อง อาจารย์ เพิ่มอีกหลายท่าน 3 ปี ที่นี่บ่มความเป็นอายุรแพทย์ เรียนรู้โรคที่โรงเรียนแพทย์อื่นอาจไม่ค่อยมีโอกาสศึกษา (Snake Bite, Paraquat Poisoning) ภูมิใจลึก ๆ คือ การได้รับเกียรติจากภาควิชาให้เป็น หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ (Chief Resident) ตอนชั้นปีที่ 3 เป็นตำแหน่งความรับผิดชอบสูงมาก ตลอด 6 เดือนที่เป็น (ย้อนหลังยังแปลกใจว่าทำได้อย่างไร ส่งเวรกับแพทย์เวรทุกเย็นขึ้นมาดูคนไข้รับใหม่ทุกคืนเพื่อเลือกทำกิจกรรม Admission Round)

พ.ศ. 2524 บรรจุเป็นแพทย์กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.ชลบุรี เรียกว่ามีไฟกลับบ้านเกิด ช่วงนั้นชลบุรีมีแพทย์ฝึกหัดจากหลายสถาบันปีละ 24 คน ได้เป็นพี่เลี้ยง Intern รุ่น 4 ถึง 7 “ชอบนะ ดูคนไข้ไปสอนไป” ไม่มีคำว่า ค่าตอบแทน หรือประเมินคุณภาพเป็นความสัมพันธ์แท้ ๆ กับแพทย์รุ่นน้องและคนไข้ช่วงนั้นมาลาเรียเยอะและยากมาก มีข้อแทรกซ้อน สมอง ไตวาย ตับวาย ระบบหายใจล้มเหลว ท้าทายทีมรักษามาก เคยรวบรวมคนไข้มาลาเรียที่เกิด ARDS (Adult Respiratory Distress Syndrome) 100 กว่ารายไปนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับ Asia Pacific แพทย์สมัยนั้นใช้ชีวิตกินนอนในวอร์ด ใน ICU ใกล้ชิดกับผู้ร่วมงาน (พยาบาล เภสัช เทคนิคการแพทย์ผู้ช่วย เวรเปล) บรรยากาศการทำงานดีมาก ผลงานช่วยชีวิตคนไข้ ดูงดงาม

พ.ศ. 2527 – 2528 ได้ทุน JCMT (Japanese Council for Medical Training Program) ไปดูงานที่โรงพยาบาลโทราโนมอน กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สาขา Chronic Respiratory Care 35 ปีที่แล้วญี่ปุ่นมี รพ.แยกคนไข้เรื้อรังชัดเจน (Bunin = Branch Hospital) 9 เดือนในญี่ปุ่นได้เห็นและรู้จักสิ่งดี ๆ ที่นั่น กลับมาทำ RCU (Respiratory Care Unit) และรณรงค์เรื่องบุหรี

พ.ศ. 2529 ผู้อำนวยการ Tienjin Cancer Institute ให้ไปศึกษามะเร็งปอด 1 เดือน 30 ปีก่อนจีนยังไม่เปิดประเทศเข้าไปคนเดียว เป็นช่วงวิเศษสุดที่ได้คลุกกับเนื้อ ๆ การแพทย์ และหลักการคิดชีวิตจีนสมัยนั้น ซึ่งส่งผลให้จีนพัฒนาล้ำในปัจจุบัน

พ.ศ. 2530 – 2531 ได้รับทุน China Medical Board Foundation ดูงาน Medical ICU/CCU ที่ Wadsworth Hospital Center และ Cedars Sinai Medical Center แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้เห็นคนไข้เอดส์เข้ามาเสียชีวิต จึงสนใจดูแลคนไข้เอดส์ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่มียา AZT เพียงตัวเดียว จนมี HAART (Highly Active Antiretroviral Therapy) แต่ราคายังสูงมาก น้อยกว่า 2% ของคนไข้ไทยที่จะเข้าถึงยาได้ วิวัฒนาการการรักษา ราคายา ระบบและองค์ความรู้ ทำให้ปัจจุบันคนไข้เอดส์ในประเทศไทยมีระบบรองรับการรักษาคุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นโรคที่มนุษยชาติร่วมมือกันต่อสู้ ถึงกล้ากำหนดว่า จะให้เป็น Zero AIDS in 2030 ปัจจุบันออกตรวจผู้ป่วยเอดส์ที่ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลตราด ขอบคุณคนไข้ทุกคนที่ให้ตนได้เรียนรู้ในทุกมิติมิใช่ด้านการแพทย์อย่างเดียว


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

ส่วนตัวสิ่งที่ภูมิใจจริง ๆไม่ใช่เรื่องรับรางวัล แต่เป็นกิจกรรมที่ได้ทำ เช่น การออกค่ายอาสา การเป็นบรรณาธิการหนังสือ (ทำหนังสือทุกรูปแบบ ตั้งแต่วารสารโรงพยาบาลชลบุรี หนังสือประชุมวิชาการ งานเปิดตึก จนหนังสือที่ระลึกงานศพแพทย์ที่เราเคารพหลาย ๆ ท่าน สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์ กินนอนในโรงพิมพ์เวลาหนังสือใกล้ออก) การเป็นนักกีฬาแบดมินตันทำเหรียญให้ ม.มหิดล การเป็นเลขานุการศูนย์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย การเป็นเลขานุการสโมสรแพทยศาสตร์รามาธิบดี ย้อนหลังเราภูมิใจว่า เป็นชีวิตนักศึกษาที่ไม่ใช่เรียนตามหลักสูตรอย่างเดียว

ภูมิใจที่ได้สัมผัสชีวิตในโรงพยาบาลภาครัฐที่กันดารและยากอย่างแม่ฮ่องสอน เคยขอรถชาวบ้าน ช่วย Refer Premature New born โดยใช้ผ้าพันขวดน้ำร้อนห่อตัวจากขุนยวมเข้าแม่ฮ่องสอนตลอดทางในยามค่ำคืน เคยล้วงรกคนไข้ขณะออกหน่วย พอสว. กลางป่าเขาที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส

ภูมิใจในโอกาสดูแลและต่อสู้กับการรักษาโรคเอดส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ยาแพงมากจนปัจจุบันระบบยาฟรีทุกคน องค์ความรู้เพิ่มไปถึงว่าถ้ากินยาแล้วตรวจไวรัสไม่เจอในกระแสเลือดจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น ศาสตร์มาถึงตรงนี้แล้ว เหลือนิดเดียวว่าสังคมต้องเปิดใจรับเขาได้เหมือนผู้ป่วยเรื้อรังทั่วไป เช่น โรคความดัน เบาหวาน อย่าตีตราแบ่งแยก

สุดท้าย ภูมิใจในการเป็นครูแพทย์ สอนแพทย์ฝึกหัดและนักศึกษาแพทย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันการมีโอกาสเป็นวิทยากรบรรยายแก่แพทย์ พยาบาลถือเป็นความสุขความภูมิใจกับงาน


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ปัจจัยแรกคือ ทำงานที่ทำให้ตนมีความสุข เมื่อไรที่ทำงานแล้วมีความสุข นั่นคือ ความสำเร็จ ส่วนตัวไม่ค่อยชินกับระบบประเมินคุณภาพต่าง ๆ เท่าไร รู้สึกว่าบุคลากรใช้เวลากับเอกสารมากเกินไป คนทำงานไม่มีความสุข HA ที่แท้จริงควรเป็น Happiness Always คิดมาตลอดว่าคนที่จะประเมินว่าโรงพยาบาลนี้มีคุณภาพหรือเปล่าควรเป็นคนไข้และญาติคนไข้ ความรู้สึกที่มีความสุขจากการช่วยคนไข้ คือ ปัจจัยไปสู่ความสำเร็จ

ปัจจัยที่สอง รักในสิ่งที่ทำ เช่น เป็นแพทย์ด้วยใจ ให้ความรักเพื่อนแพทย์และผู้ร่วมงาน เป็นครูด้วยใจ ให้ความรักลูกศิษย์ ลูกศิษย์มีทั้งที่เก่งและไม่เก่ง ตนไม่ชอบการวัดด้วยคะแนน เพราะเป็นการวัดแค่ชั่วคราว และเด็กที่ได้คะแนนไม่ดีจะรู้สึกด้อย

ปัจจัยที่สาม คือ การมีสุขภาพดี มีโอกาสศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่หลากหลาย ทั้งญี่ปุ่น จีน และอเมริกา การเรียนรู้ การ Share เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

อุปสรรค คือ ความท้าทาย คือ โอกาสการฝึก ตนมักเก็บประวัติคนไข้ที่เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรียหนัก ๆ หรือเอดส์หนัก ๆ มาอ่านทุกหน้าเลยว่าเสียชีวิตเพราะอะไร และจะเรียกแพทย์ประจำบ้านมานั่งคุยกันตรงนี้อย่างไร เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นความล้มเหลว ไม่ได้คิดว่าเป็นอุปสรรค มันคือความท้าทาย ความรู้สึกท้อแท้กับท้าทายมันต่างกันมาก

คำพูดคำหนึ่งว่า “Failure is the path of success” คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลยถ้าคุณไม่เจอหรือรู้จักความล้มเหลว


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

น่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาโรงพยาบาลภาครัฐ เราทำงานโรงพยาบาลรัฐบาลมาตลอดชีวิต รู้สึกว่าทั้งคนไข้และคนทำงานลำบากขึ้น คนไข้รอคิวตรวจ คิวปฏิบัติการวินิจฉัยนานเกินไป ปฏิเสธกันไม่ได้ว่า คิวรอทำ Ultrasound แต่ละที่ เป็นหลาย ๆ เดือน

คิวผ่าตัดข้ามเดือน ข้ามปี เตียงรับคนไข้หอผู้ป่วยสามัญ ห้องพิเศษไม่เพียงพอ เหล่านี้ควรเป็นวาระแห่งชาติมีตัวชี้วัดอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไร ให้โรงพยาบาลรัฐเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยได้โดยไม่ลำบากเกิน เคยคิดว่าเรามีศูนย์การค้าหรู ๆ เกิดขึ้นมากกว่า 1 แห่งในจังหวัดใหญ่ ๆ ภูมิภาค แต่โรงพยาบาลรัฐบาลกลับถูกจำกัดและแออัดมาก ๆ อยู่ที่ 1 แห่ง ตรรกะนี้ไม่น่าใช่


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรก คือ ศ. พญ. ถนอมศรี ศรีชัยกุล ครูแพทย์สอนด้านโลหิตวิทยามาตั้งแต่อยู่ปี 5 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ท่านอุทิศตน (Devote) สอนนักศึกษา ทุ่มเท (Dedicate) สอนการอ่านไขกระดูกทุกบ่ายวันจันทร์ รวบรวมเคสมาให้ สมัยนั้นนักศึกษาแพทย์จบจากรามาธิบดี สามารถเจาะไขกระดูก ย้อม และอ่านผลได้ด้วยตนเอง แทบไม่น่าเชื่อว่า ตอนใช้ทุนที่นราธิวาส เราได้ใช้อานิสงส์การสอนของอาจารย์กับผู้ป่วยได้อย่างมั่นใจ ความเรียบร้อยในทุกมิติของอาจารย์ก็เป็นต้นแบบที่ดี ดีใจที่ได้เป็นลูกศิษย์

คนที่สอง นพ. ม.ร.ว. แก้วแกมทอง ทองใหญ่ อดีตหัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม ที่โรงพยาบาลชลบุรี อาจารย์เป็นแพทย์ที่เรียบร้อย สุภาพ อ่อนโยน ใจดี เป็น The Great ทุกอย่างไม่มีปัญหา อาจารย์ไม่เคยใช้อารมณ์ มีวิธีให้ทุกคนที่เข้าไปพบอาจารย์แล้วมีความสุข

คนที่สาม น่าจะเป็น คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการบริษัท เอ็มเค เรสโตรองค์ กรุ๊ป จำกัด เป็นเพื่อนจบเตรียมอุดมฯ ห้องเดียวกัน (135) จบวิศวะเป็นคนเก่งที่อ่านหนังสือเยอะ มีมุมมองวิสัยทัศน์ดี ที่สำคัญคือ จริยธรรมบริหารองค์กรและสังคมสูง บริจาคให้งานโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวนมากและเวลานาน


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

“อตฺตานํ อุปฺมํ กเร” เป็นคำขวัญของ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโดย พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายกกรรมการสภามหาวิทยาลัยสมัยนั้น (พ.ศ. 2486) เป็นพุทธวจนะ “พึงกระทำตนเป็นอุปมา” “พึงเอาตนเองเป็นเครื่องเปรียบเทียบ” คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำอะไรก็ต้องนึกว่าถ้าเราเป็นเขา เราจะชอบใจไหม


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

การแพทย์เมืองไทยยังหาตรงกลางของการบริการที่พอดีไม่ได้ ถ้าใครไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาล ต้องเตรียมใจ เตรียมเวลาไว้ ครึ่งวันหรือ 1 วัน ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน เร็ว แต่ค่ารักษาบริการแพงจัด ทำอย่างไรจะให้การแพทย์ภาครัฐเติบโตสวยงามกว่านี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลภาคเอกชนกำลังเจอเรื่องการฟ้องร้อง จากตัวโรคที่สลับซับซ้อน และความคาดหวังของคนไข้และญาติ เกิดปัญหาอีกแบบว่าทำอย่างไรปัญหาการฟ้องร้อง จะลดลงฟ้องร้องแบบสมเหตุสมผล

ปัญหาการขาดระเบียบวินัยนำมา ซึ่งการทำร้ายร่างกาย อุบัติเหตุท้องถนน ปัญหายาเสพติดพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน ถ้ายังไม่ให้ความสำคัญตรงนี้ สาธารณสุขไทยก็จะอยู่ในฐานะตั้งรับตลอดไป

สาระสื่อ ควรสร้างสรรค์ให้ประชาชนเข้าใจ การทำงานของแพทย์และบุคลากร อย่าทำลายขวัญกำลังใจบุคลากรการแพทย์ ควรสร้างขวัญกำลังใจ สื่อน่าจะมีสาระบวกให้ความเข้าใจ ความเห็นใจแก่โรงพยาบาลสาธารณสุข อันนี้สำคัญ และละเอียดอ่อนมาก

สุดท้ายแพทย์เราต้องช่วยกันดำรงความดี ความไม่เอาเปรียบคนไข้เพื่อให้ คำเรียก “คุณหมอ” เป็นคำที่เราทุกคนภูมิใจในสรรพนามของเรา


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

กำหนดความหมาย “ความสำเร็จ” ให้ชัดเจนว่าคืออะไร ถ้าความสำเร็จ คือความสุขที่ดูแลคนไข้จนปลอดภัย ก็ต้องฝึกฝน ติดตามข้อมูลการรักษา เน้นความสำคัญในตัวคนไข้ แต่ถ้าความสำเร็จคือ ตำแหน่ง รายได้ เรื่องนี้ก็จะยาก อยากให้แพทย์รุ่นใหม่ ตระหนักว่าเรามีโอกาสดีกว่าอาชีพอื่นมากมาย สังคมเคารพ สังคมหวังเราเป็นที่พึ่ง และสังคมก็พร้อมจะตอบแทนงานเราเป็นเงินทองของขวัญอย่างจริงใจ จะเหลือ อาชีพใดที่เขาไหว้เราก่อนโดยไม่คำนึงอาวุโส ลาภที่ประเสริฐสุดของคน คือ ความไม่มีโรค จงภูมิใจที่เราอยู่ในฐานะที่จะให้ลาภนั้น ๆ แก่คนไข้เรา

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก