โมเดลหัวใจ 3 มิติ (Combined 3D modelling technique) เทคนิคใหม่ในการสร้างแบบจำลองการเต้นของหัวใจ ที่สามารถทำนายจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตั้งแต่เกิด (HCM) และอาจช่วยตัดสินการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ
มีหลายวิธีที่จะคาดคะเนความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และการได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Defribrillator) แต่หลายวิธียังไม่แม่นยำมากนัก
Ryan O’Hara และทีมนักวิจัยจาก Johns Hopkins, USA ได้พัฒนาวิธีที่แม่นยำและเจาะจงมากขึ้นในการทำนายอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยใช้ 2 เทคนิคคือ การสร้างแผนภาพหัวใจจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยใช้สารทึบแสง gadolinium เป็นตัวนำ และแผนภาพหัวใจหลังจากฉีดสารทึบแสง ทำให้ทีมงานสร้างแบบจำลองที่จำเพาะของหัวใจผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วยแผลเป็นและลักษณะการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และยังช่วยประเมินแนวโน้มที่จะเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
ทีมนักวิจัยได้ทำการทดลองเทคนิคนี้ในผู้ป่วย 26 คน พบว่าทำนายโอกาสในการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้แม่นยำถึง 80% ขณะที่วิธีการปัจจุบันมีความแม่นยำเพียง 50% นอกจากนี้เทคนิคนี้ยังแสดงให้เห็นถึงพังผืดที่กระจายทั่วในหัวใจ ซึ่งเป็นรอยโรคที่สัมพันธ์กับภาวะหัวใจล้มเหลว แต่แทบจะไม่เคยตรวจพบในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจโตมาก่อน และรอยโรคนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีการทำนายโรคหัวใจด้วยโมเดล 3 มิตินี้ ควรมีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยที่ความเสี่ยงสูงจะได้รับประโยชน์จากเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือการรักษาอื่นๆ เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยที่ไม่น่าจะเกิดโรค จะไม่ต้องเสี่ยงกับการรักษาที่เกินจำเป็น
ข้อมูลจาก https://www.sciencedaily.com/releases/2022/01/220125112604.htm