เด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted reproductive technology, ART) มีการเจริญเติบโตทางร่างกายในช่วงทารกถึงวัยรุ่นตอนต้นน้อยกว่าเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติเล็กน้อย และความแตกต่างนี้ลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย
การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทำให้มีการเกิดของทารกมากกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก นับตั้งแต่ 40 ปีก่อนเป็นต้นมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของการเจริญเติบโตของเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ปกติ
Ahmed Ahmed Elhakeem และคณะ ได้ทำการวิเคราะห์แบบ Meta-analysis จากการศึกษารวม 26 การศึกษา ซึ่งรวบรวมข้อมูลการเจริญเติบโตทางร่างกายและความอ้วน ของเด็กที่เกิดในปี ค.ศ. 1984 ถึง 2018 จากยุโรป เอเชียแปซิฟิก และอเมริกาเหนือ จำนวน 158,066 ราย ครอบคลุมอายุตั้งแต่ 18 วัน จนถึง 27.4 ปี จัดว่าอยู่ในวัยทารกจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น พบว่า มีผู้ที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่จากวิธีการผสมในหลอดทดลอง (IVF) และการฉีดอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ในร่างกาย (ICSI) จำนวน 4,329 ราย เปรียบเทียบกับผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ 153,737 ราย โดยพบว่า ผู้ที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นั้นมีส่วนสูงน้อยกว่า น้ำหนักตัวน้อยกว่า และผอมกว่าผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเล็กน้อย โดยความต่างของค่าเฉลี่ยการเบี่ยงเบนมาตรฐานของน้ำหนักเมื่ออายุน้อยกว่า 3 เดือน, 17 ถึง 23 เดือน, 6 ถึง 9 ปี และ 14 ถึง 17 ปี เท่ากับ -0.27 SD, -0.16 SD, -0.07 SD และ -0.02 SD ตามลำดับ จะเห็นว่าความแตกต่างกันนี้ลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่การวัดไขมันพบว่าผู้ที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อาจมีไขมันมากกว่าผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น
การศึกษานี้พบว่า เด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เจริญเติบโตน้อยกว่าเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติเล็กน้อย และความต่างนี้ลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น หรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แม้การศึกษานี้จะมีข้อจำกัดในเรื่องวิวัฒนาการการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่พัฒนาขึ้นในช่วงหลัง ๆ แต่ผลการศึกษานี้อาจช่วยการตัดสินใจให้แก่ครอบครัวที่วางแผนมีบุตรด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ได้ต่อไป
ข้อมูลจาก
1. https://www.medscape.com/viewarticle/971585
2. https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2022.03.20.22272579v1