การศึกษา Aveir DR i2i รวบรวมข้อมูลการใส่ dual-chamber leadless pacemaker จำนวน 300 รายพบว่าความปลอดภัยสูงถึงร้อยละ 90.3 และประสิทธิภาพของการประสานงานที่ atrial beat สูงถึงร้อยละ 90.2 และไม่ด้อยไปกว่าเทียบกับการใส่อุปกรณ์แบบมีสายมาตรฐาน ในการติดตามผลที่ 90 วันหลังใส่อุปกรณ์
การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สายที่เริ่มมาแทนที่เครื่องรุ่นมีสายเดิม เป็นการฝังอุปกรณ์ตรวจจับและกระตุ้นที่หัวใจห้องล่างขวาเท่านั้น (right ventricle) จึงยังไม่สามารถทำงานสอดประสานกับหัวใจห้องบนขวาได้ดีนัก หากต้องการให้หัวใจทำงานสอดประสานกันในข้อบ่งชี้จำเป็น ก็ต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบมีสายไปที่หัวใจห้องบนและล่าง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีไร้สายได้เข้ามาเชื่อมการทำงานของเครื่องกระตุ้นไร้สายแบบสองห้องหัวใจให้ทำงานสอดรับกันได้ดีขึ้นมาก และเป็นที่มาของการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยนี้
การศึกษารวบรวมผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นหัวใจไร้สาย Aveir แบบ dual-chamber คือใส่ทั้งห้องบนขวาและล่างขวาในครั้งเดียวกัน จำนวน 300 รายโดยห้องปฏิบัติการที่เชี่ยวชาญและผ่านการฝึกทั้งในอเมริกา แคนาดาและยุโรป ทำในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ใส่ dual-chamber pacemaker ที่อายุมากกว่า 18 ปี โดยหัวส่งสัญญาณได้รับโปรแกรมให้สื่อสารกันระหว่างสองอุปกรณ์ในสองห้องหัวใจ ทั้งการกระตุ้นและการตรวจจับสัญญาณเพื่อยับยั้งการกระตุ้น โดยติดตามผลการรักษาและผลแทรกซ้อนที่สามเดือน
ผู้ที่เข้ารับการใส่อุปกรณ์อายุเฉลี่ย 69 ปี ส่วนใหญ่คือ sinus node dysfunction ร้อยละ 63 อีกข้อบ่งชี้คือ AV block ร้อยละ 33 ใส่อุปกรณ์ประสบความสำเร็จในครั้งเดียวถึงร้อยละ 75 ผลความปลอดภัยหลักทั้งปลอดภัยจากตัวอุปกรณ์และกระบวนการใส่เครื่องมือ มีความปลอดภัยรวมร้อยละ 90.3 ความปลอดภัยไม่ด้อยไปกว่าการใส่อุปกรณ์แบบมีสาย (เกณฑ์ปลอดภัยที่ร้อยละ 78) ส่วนมากเกิดในสองวันแรกและสามารถแก้ไขได้ ส่วนมากคือหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ atrial fibrillation
ผลการรักษาหลักคือ การจับสัญญาณ atrial capture threshold และ atrial sensing amplitude โดยเทียบเป็นอัตราส่วนร้อยละที่ไม่ต่ำกว่าการใส่อุปกรณ์แบบมีสาย โดยประสิทธิภาพเท่ากับร้อยละ 90.2 ประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าแบบมีสาย (เกณฑ์ประสิทธิภาพที่ร้อยละ 80)
การใช้อุปกรณ์ไร้สายนี้มีความปลอดภัยสูง ประสิทธิภาพสูงและการเชื่อมต่อระหว่างหัวส่งสัญญาณแม่นยำ ดีกว่าแบบมีสายและยังลดปัญหาสายเลื่อนหลุด ติดเชื้อจากอุปกรณ์ควบคุมที่ฝังในทรวงอก แต่ยังเป็นเพียงการศึกษาเดียว ปริมาณตัวอย่างน้อย การติดตามระยะสั้น คงต้องรอการศึกษาปริมาณมากขึ้นกว่านี้ต่อไป
เรียบเรียงโดย นพ. ชาคริต หลิมพานิช
ข้อมูลจาก https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2300080