ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Exeter ในประเทศอังกฤษได้พัฒนากล้อง Endoscope ทำจากเส้นใยแก้วนำแสง ที่มีขนาดเล็กพอ ๆ กับเส้นผมของคน (Ultrathin optical fiber) ทำให้สามารถส่องดูได้ถึงเซลล์ที่อยู่ลึกและยากที่กล้องรุ่นก่อนหน้าจะเข้าถึง ส่งผลให้การวินิจฉัยโรคมีความแม่นยำและการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และด้วยขนาดที่เล็กลงทำให้การทำผ่าตัดชิ้นเนื้อหรือแม้กระทั่งการผ่าตัดขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าก่อนหน้ามาก
ด้วยเส้นใยแก้วนำแสงที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้เกิดข้อจำกัดในด้านความคมชัดของภาพ โดยจะทำให้ได้ภาพที่เบลอและเห็นไม่ชัด แต่ด้วยเทคโนโลยีที่นักวิจัยเรียกว่าเป็น “กุญแจ” ในการปรับเทียบและถอดรหัสสัญญาณได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้กล้อง Endoscope รุ่นใหม่สามารถสร้างภาพที่เห็นได้อย่างคมชัด นอกจากนี้ การงอและบิดของเส้นใยที่มีความยืดหยุ่นเพื่อให้แทรกเข้าไปในร่างกายได้ดี ก็ทำให้ได้ภาพที่เบลอและไม่ชัดด้วยเช่นกัน ปัญหานี้นักวิจัยใช้วิธีการติดตามความไม่คมชัดของภาพและทำการปรับแต่งภาพแบบไดนามิกในระหว่างการทำงาน ด้วยเทคโนโลยีของกล้อง Endoscope รุ่นใหม่นี้จะทำให้แพทย์สามารถโฟกัสไปยังเซลล์ที่สนใจได้อย่างแม่นยำและคมชัดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กล้องชนิดนี้จะต้องมีความระมัดระวังในการใช้สูงเนื่องจากตัวกล้อง Optical fiber มีขนาดเล็กมาก เสี่ยงกับการแตกหักในระหว่างการใช้งาน โดยทีมนักวิจัยกำลังศึกษาวิธีแก้ปัหาดังกล่าว ก่อนมีการผลิตออกมาใช้งานจริง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.medgadget.com/optical-fiber-imaging
ภาพประกอบจาก Europe-endoscope.com