ผลการศึกษาวิจัย TASTE-A พบว่า การให้ยาละลายลิ่มเลือดชนิดใหม่ Tenecteplase ร่วมกับโมบาย สโตรค ยูนิต (Mobile stroke unit) อาจให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการใช้ยาละลายลิ่มเลือดแบบเดิม โดยพบขนาดของเนื้อสมองที่ขาดเลือดเล็กกว่าอย่างชัดเจน และยังอาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่าด้วย
โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรค (Stroke) นับเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แยกออกได้เป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 85 และโรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) คิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ทั้งสองโรคเป็นภาวะเฉียบพลันที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน การวินิจฉัยที่สำคัญคือ การแยกโรคทั้งสองดังกล่าวออกจากกัน ซึ่งทำได้โดยการทำการสแกนสมองคอมพิวเตอร์ (CT brain scan) ส่วนการรักษาจะเป็นการให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดภาวะสมองขาดเลือด
ปัจจุบันมีการศึกษาการใช้โมบายสโตรค ยูนิต ซึ่งจะมีการติดตั้งเครื่อง CT brain scan ลงไปในรถเคลื่อนที่ เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการทดลองใช้ยาละลายลิ่มเลือดชนิดใหม่ Tenecteplase ซึ่งสามารถฉีดเข้าเส้นเลือดได้เลย ไม่ต้องหยดเข้าเส้นเลือดอย่างช้า ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยรายละเอียดและผลการศึกษาเบื้องต้น มีดังนี้
การศึกษา TASTE-A ทำในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในเดือนมิ.ย. 2019 – เดือนพ.ย. 2021 ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน จำนวน 104 ราย อายุเฉลี่ย 73 ปี ทั้งหมดได้รับการรักษาโดยโมบายสโตรค ยูนิต โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดมาตรฐาน Alteplase และกลุ่มที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดชนิดใหม่ Tenecteplase แล้วทำ CT Scan เปรียบเทียบขนาดของสมองที่มีการขาดเลือด พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้ยาละลายลิ่มเลือดชนิดใหม่ Tenecteplase มีขนาดของสมองที่ขาดเลือดเล็กกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และแนวโน้มเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาน้อยกว่า โดยในกลุ่มที่ใช้ Tenecteplase พบผลข้างเคียงร้อยละ 5 ขณะที่กลุ่มที่ใช้ Alteplase พบผลข้างเคียงร้อยละ 8
ผลจากการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ระบบโมบายสโตรคร่วมกับการใช้ยะละลายลิ่มเลือดชนิดใหม่ที่สามารถฉีดเข้าเส้นเลือดได้เลย อาจนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไป เนื่องจากการศึกษานี้มีกลุ่มผู้ป่วยค่อนข้างขำกัด
ข้อมูลจาก
1. https://www.medscape.com/viewarticle/973448#vp_1
2. https://www.thelancet.com/journals/laneur/article/PIIS1474-4422(22)00171-5/fulltext