นักวิจัยสามารถสร้างเนื้อเยื่อไตเทียมแบบสามมิติได้สำเร็จจากสเต็มเซลล์ของหนู เป็นอีกหนึ่งก้าวอันสำคัญในการพัฒนาเนื้อเยื่อไตเทียมเพื่อการปลูกถ่ายไตในอนาคต
Dr. Ryuichi Nishinakamura และทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยคุมาโมโตะ (ประเทศญี่ปุ่น) ทำการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเนื้อเยื่อเทียม โดยอาศัยหลักการการเจริญเติบโตของ stromal cell ที่จะเจริญไปเป็นเนื้อเยื่อต่าง ๆ นำมาต่อยอดในการสร้างเนื้อเยื่อไต เพื่อเป็นทางนำไปสู่การวิจัยต่อยอดในการสร้างเนื้อเยื่อไตเทียม (artificial kidneys) เพื่อการปลูกถ่ายไตในอนาคต
ไตเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะมีหน้าที่ในการขับน้ำและของเสียออกจากร่างกาย โดยโครงสร้างเริ่มต้นของเนื้อเยื่อไตสามารถแบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนของหน่วยตัวกรอง ส่วนของท่อไต (the nephron progenitor and the ureteric bud) ซึ่งทางทีมวิจัยสามารถสร้างจากการใช้สเต็มเซลล์ของหนูเป็นต้นแบบ และในการวิจัยล่าสุดทีมนักวิจัยสามารถสร้างโครงสร้างสุดท้ายที่เรียกว่า kidney-specific stromal progenitor ที่นำมาประกอบทำให้สามารถสร้างเนื้อเยื่อไตแบบสามมิติได้สมบูรณ์ในหลอดทดลอง โดยเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นมีการแตกแขนงของท่อไตและโครงสร้างอื่นๆเพิ่มเติมอีกด้วย
จากการศึกษาเบื้องต้นทำให้ทางทีมวิจัยเชื่อว่าจะสามารถสร้างเนื้อเยื่อไตจากต้นแบบสเต็มเซลล์ของมนุษย์ได้ โดยอาศัยหลักความรู้เดียวกัน เพื่อพัฒนาเนื้อเยื่อไตเทียมของมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อนำไปต่อยอดในการปลูกถ่ายไตจากเนื้อเยื่อไตเทียมได้ในอนาคต
นักวิจัยสามารถสร้างเนื้อเยื่อไตเทียมแบบสามมิติได้สำเร็จจากสเต็มเซลล์ของหนู นับเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะนำไปต่อยอดในการสร้างเนื้อเยื่อไตเทียมของมนุษย์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคและปลูกถ่ายไตในอนาคต
ข้อมูลจาก
- https://www.sciencedaily.com/releases/2022/02/220201074530.htm
- https://www.nature.com/articles/s41467-022-28226-7