มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า Cardiac troponin อาจเป็นตัวช่วยเลือกผู้ป่วยที่ควรตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography, CCTA) เพื่อค้นหาโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac artery disease, CAD) ที่ซ่อนเร้น และนำไปสู่การวางแนวทางการรักษาในเชิงป้องกันได้
จากข้อมูลพื้นฐานที่ว่า ผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome, ACS) ไม่รวมกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจในอนาคต จึงมีการศึกษาแบบ Cohort study ในผู้ป่วยแผนกฉุกเฉินที่ไม่เกี่ยวกับ MI และสงสัยว่าเป็น ACS จำนวน 250 ราย โดยวัดความเข้มข้นของ hs-cTnI และตรวจ CCTA ผู้ป่วยทุกราย ทำการเปรียบเทียบกลุ่มที่วัดความเข้มข้นของ hs-cTnI ระดับกลาง (ระหว่าง 5 ng/L และเปอร์เซ็นไทล์ที่ 99 เฉพาะเพศ) และกลุ่มที่วัดความเข้มข้นได้ระดับต่ำ (< 5 ng/L)
ผลที่ได้ พบว่า ในผู้ป่วยที่ไม่รวมกล้ามเนื้อหัวใจตาย CAD มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3 เท่าในผู้ที่มีความเข้มข้นของ hs-cTnI ระดับกลาง เมื่อเทียบกับความเข้มข้นของ hs-cTnI ต่ำ ส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกทั้งแบบ typical และ atypical angina พบว่า การเกิด CAD ไม่ต่างกับกลุ่มที่มีอาการเจ็บหน้าอกแบบ Non-angina ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า การใช้ Angiography ทำการตรวจสอบหลอดเลือดหัวใจเป็นประจำในผู้ที่พบ Troponin ระดับปานกลาง จะทำให้ค้นพบผู้ป่วยโรคหัวใจตีบที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อน และสามารถกำหนดเป้าหมายการรักษาด้วยการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1. www.pubmed.gov
2. www.medscape.com
ภาพประกอบจาก www.freepik.com