ข้อมูลหลาย ๆ การศึกษา พบว่า มารดาที่ให้นมบุตรจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (CVD) น้อยกว่ามารดาที่ไม่ได้ให้นมบุตร โดยโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับโรคในกลุ่มนี้
มีการศึกษาอย่างน้อย 8 ชิ้น ที่มีการตีพิมพ์ โดยรวมเป็นการเก็บข้อมูลของสตรีที่มีบุตรจำนวน 1,192,700 คน อายุเฉลี่ย 51.3 ปี และมีบุตรเฉลี่ย 2 คน มีบุตรคนแรกตอนอายุเฉลี่ย 24 ปี โดยในจำนวนมีสตรี 982,566 คน หรือ 82% มีการให้นมบุตรที่เฉลี่ย 15 เดือน ส่วนที่เหลือไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ การศึกษาได้ติดตามการเกิดโรคในกลุ่ม CVD เป็นระยะเวลา 10.3 ปี เปรียบเทียบทั้ง 2 กลุ่ม ผลการศึกษา พบว่า การให้นมบุตรมีผลในการป้องกันความเสี่ยงจากโรคในกลุ่ม CVD ได้ และหากเปรียบเทียบระหว่างสตรีที่ให้นมบุตร 0 – 12 เดือน พบว่า ยิ่งระยะเวลาในการให้นมบุตรนานความเสี่ยงจะลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ กลไกการลดความเสี่ยงนั้นยังไม่แน่ชัด แต่มีทฤษฎีหลัก ๆ ทฤษฎีแรก สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนสำคัญ ๆ ในการให้นมบุตร เช่น โปรแลคติน (prolactin) และออกซิโทซิน (oxytocin) โดยออกซิโทซิน จะเป็นฮอร์โมนสำคัญในการหลั่งน้ำนม และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และประโยชน์ในด้านอื่น ๆเช่น ลดความดันโลหิต สร้างสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการอักเสบในร่างกาย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีทฤษฎีที่สันนิษฐานว่าน้ำหนักที่ลดในช่วงให้นมบุตร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดลงตามไปด้วย
ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ สนับสนุนการให้นมบุตรของคุณแม่ ทั้งเพื่อสุขภาพลูกและตัวคุณแม่เอง
ข้อมูลจาก
- https://www.ahajournals.org/doi/10.1161/JAHA.121.022746
- https://specialty.mims.com/topic/breastfeeding-protects-mothers-against-cardiovascular-disease