การลืมอาจเป็นรูปแบบการเรียนรู้ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในการเข้าถึงของความทรงจำ ไม่ใช่การสูญเสียความทรงจำ เราสร้างความทรงจำต่าง ๆ ไว้มากมายตลอดช่วงชีวิตที่มี แต่หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่แลดูไม่ได้มีความสำคัญมากนักในขณะนั้น เราก็อาจจะลืมความทรงจำต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลานั้น ๆ ไป
Dr. Tomás Ryan จากสถาบันประสาทวิทยา วิทยาลัย Trinity Dublin ร่วมกับ Dr. Paul Frankland จาก University of Toronto ได้มีการนำเสนอว่า ความทรงจำต่าง ๆ นั้นถูกเก็บไว้ในกลุ่มเซลล์ประสาทที่เรียกว่า Engram cells ซึ่งการเรียกความทรงจำเหล่านั้นกลับคืนได้สำเร็จ จำเป็นต้องเกิดการกระตุ้นของเชลล์เหล่านี้อีกครั้ง ดังนั้น ความทรงจำไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ Engram cells ของความทรงจำนั้ นๆไม่ได้ถูกกระตุ้นเท่านั้น ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมส่งผลต่อการกระตุ้นเซลล์ดังกล่าว และส่งผลต่ออัตราการลืม จึงกล่าวได้ว่าการลืมเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่เปลี่ยนความสามารถในการเข้าถึง Engram cells ไปตามสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยทีมนักวิจัยมีความเห็นว่า โรคเกี่ยวกับความทรงจำต่าง ๆ เช่น Alzheimer’s disease นั้น มีผลจากการที่กลไกการลืมถูกรบกวน ทำให้ความสามารถในการเข้าถึง engram cells ลดลง และเกิดการสูญเสียความจำในทางพยาธิวิทยา
ทีมวิจัยเห็นว่า สิ่งแวดล้อมส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงความทรงจำต่าง ๆ ที่มนุษย์มีได้ ซึ่งการลืมความทรงจำที่ไม่สำคัญต่อสถานการณ์ที่พบเจอ อาจส่งผลในเชิงบวก และทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย มนุษย์มีการเรียนรู้ที่จะลืมความทรงจำบางอย่าง ในขณะที่รักษาความทรงจำที่สำคัญ ๆ ไว้ และยังเชื่อว่าการลืมตามธรรมชาติ (natural forgetting) นี้ เป็นกระบวนการที่สามารถย้อนกลับได้ในบางสถานการณ์อีกด้วย
ข้อมูลจาก https://www.sciencedaily.com/releases/2022/01/220113111421.htm