การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ (Major adverse cardiac event, MACE) ซึ่งการผ่าตัดมีหลายวิธี ผลจากการวิเคราะห์คนไข้กลุ่มใหญ่ที่ได้รับการรักษาที่ Cleveland Clinic ในระหว่างปี 1998 – 2017 พบว่า การผ่าตัดแบบ Bypass (Laparoscopic Roux-en-Y Gastric Bypass, RYGB) จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ ได้มากกว่าการผ่าตัดแบบ Sleeve (Sleeve Gastrectomy, SG)
โดยทั่วไปวิธีการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน มี 2 กลุ่มหลัก ๆ2 คือ กลุ่มที่ผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร เช่น Gastric Banding และ Sleeve Gastrectomy และกลุ่มที่ผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร และลดการดูดซึม เช่น Roux-en-Y Gastric Bypass, RYGB โดยในการศึกษาก่อนหน้านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการรักษาแบบผ่าตัดในผู้ป่วยโรคอ้วน และมีเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคร่วม ซึ่งการควบคุมเบาหวานและปัจจัยเสี่ยงทางด้านหัวใจและเมตาโบลิคดีขึ้น และยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการผ่าตัดยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อีกด้วย
ล่าสุดทีมวิจัย ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดแบบ Bypass จำนวน 1,362 คน ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบ Sleeve จำนวน 693 คน และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดอีก 11,435 คน ติดตามไปเป็นระยะเวลา 5 ปี พบมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจ (MACE) ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบ Bypass จำนวน 13.7% ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบ Sleeve จำนวน 24.7% และในกลุ่มที่ไม่ได้รับการผ่าตัด 30.4% แสดงให้เห็นว่าการเกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจ (MACE) ลดลงทั้งในกลุ่มที่ผ่าตัดแบบ Bypass และ Sleeve เมื่อเทียบกับการรักษาแบบปกติ นอกจากนี้ ยังพบอัตราการเสียชีวิต โรคหัวใจขาดเลือดและสมองขาดเลือด (three-component MACE) ลดลงอีกด้วย นอกจากนี้ ในกลุ่มที่ผ่าตัดแบบ Bypass ยังพบว่า ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไต ลดน้ำหนัก ลดค่า HbA1C รวมไปถึงลดการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีเบาหวาน และหัวใจเป็นโรคร่วมอีกด้วย ทั้งนี้ การผ่าตัดควรได้รับการพิจารณาความเหมาะสมจากแพทย์เฉพาะทางอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1. www.medscape.com
2. เอกสาร Srinagarind Med J 2013; 28 (suppl)
ภาพประกอบจาก www.freepik.com