ภายหลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาในเรื่องการมองเห็น ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Purdue และมหาวิทยาลัย Jinan ได้ค้นพบวิธีการใช้ยีนบำบัด (Gene therapy) เพื่อเปลี่ยนเซลล์เกลีย (Glial brain cells) ให้เป็นเซลล์ประสาท (Neurons) ช่วยฟื้นฟูการมองเห็น และอาจจะช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตด้วย
โรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงในสมองอุดตัน การไหลเวียนของเลือดไปยังเนื้อเยื่อประสาทหยุดลง และทำให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นตาย การเกิดโรคซ้ำ ๆ หลายครั้งจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการมองเห็น ผู้ป่วยอาจสูญเสีย หรือบกพร่องในการมองเห็นไป โดยปกติเซลล์ประสาทไม่สามารถสร้างใหม่ได้ แม้ว่าในผู้ป่วยบางรายสมองสามารถปรับตัวจนการมองเห็นดีขึ้นได้ แต่มักจะช้าและไม่มีประสิทธิภาพ และในผู้ป่วยบางรายอาการอาจไม่ดีขึ้นเลย การรักษาโดยใช้เซลล์บำบัด (Stem cell therapy) สามารถช่วยได้ แต่อาจมีปัญหาความเข้ากันได้กับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ทำให้เทคนิคยีนบำบัดมีแนวโน้มให้ผลที่ดีกว่า
โดยทีมนักวิจัยกล่าวว่า การทำรีโปรแกรม (Reprogramming) ให้เซลล์เกลียกลายเป็นเซลล์ประสาทโดยตรง โดยไม่ต้องปลูกถ่ายเซลล์ใหม่ เป็นวิธีที่ไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาการต่อต้านจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถทำได้ง่ายกว่าวิธีเซลล์บำบัด และเกิดความเสียหายต่อสมองน้อยกว่า เนื่องจากเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทเก่าและเซลล์ประสาทใหม่ที่ถูกปรับจากเซลล์ค้ำจุนเดิม วิธีนี้จะคล้ายกับการช่วยให้สมองรักษาตัวมันเอง โดยผลที่ได้ คือ หนูทดลองได้การมองเห็นกลับคืนมา
งานวิจัยนี้เป็นสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจ ระหว่างเซลล์ประสาทและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ การทำให้เทคนิคนี้สมบูรณ์และการเข้าใจเทคนิคนี้ อาจนำไปสู่การฟื้นฟูประสาทการเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคเดียวกันต่อไปในอนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.news-medical.net
ภาพประกอบจาก www.freepik.com