หนึ่งในปัญหาของความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือ การควบคุมความดันโลหิต มีผลการศึกษาที่ถูกนำเสนอในงานประชุมทางด้านความดันโลหิตสูง ของสมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา ปี 2564 พบว่า ผู้หญิงที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุระหว่าง 20 – 49 ปี มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้ (Uncontrolled hypertension) แม้ว่าจะได้รับยารักษาแล้วก็ตาม
นักวิจัยจาก Rutgers Institute of Health, Rutgers university ได้นำเสนอว่า การควบคุมความดันโลหิตยังคงเป็นความท้าทายหลักทางสาธารณสุข ซึ่งส่งผลกระทบแม้กระทั่งผู้ที่กำลังรักษาโรคความดันโลหิตอยู่ เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน มีแนวโน้มที่ความดันโลหิตจะสูง รวมถึงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular risk) มากขึ้น แต่ยังมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับการควบคุมความดันโลหิตที่แตกต่างกันไปตามเพศและอายุ
ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพจากการสำรวจ NHANES ของ CDC สหรัฐอเมริกา ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2542 ถึง 2561 ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 13,253 ราย ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และทานยารักษาตามแพทย์สั่ง โดยศึกษาเปรียบเทียบชายหญิงทุกช่วงอายุ 10 ปี พบว่า 34% เกิดความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้ โดยโอกาสเกิดในผู้ชายอายุ 20 – 29 ปี ผู้ชายอายุ 30 – 39 ปี และผู้ชายอายุ 40 – 49 ปี สูงกว่าผู้หญิงในช่วงอายุเดียวกัน 59%, 70% และ 47% ตามลำดับ ขณะที่ช่วงอายุ 50 – 69 ปี ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้ใกล้เคียงกัน ในขณะที่ช่วงอายุ 70 - 79 ปี และอายุ 80 ปีขึ้นไป ผู้หญิงมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้สูงกว่าผู้ชายที่ 29% และ 63% ตามลำดับ
โดยผู้วิจัยกล่าวว่า การอ่านค่าความดันโลหิตของผู้เข้าร่วมการศึกษา ณ จุดเวลาหนึ่ง ๆ เป็นข้อจำกัดของการศึกษาวิจัย เพราะโดยปกติแล้วค่าความดันโลหิตของแต่ละบุคคล จะเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดทั้งวัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.pharmacytimes.com
ภาพประกอบจาก www.freepik.com