การเติมเกลือเพื่อเพิ่มรสชาติในขณะรับประทานอาหาร เพิ่มความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและลดอายุขัย โดยไม่ขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทาน การใช้ชีวิต ระดับเศรษฐกิจสังคม และโรคประจำตัว
การรับประทานอาหารที่มีเกลือเป็นปริมาณมากนั้นมีผลต่อสุขภาพอย่างไร ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงมาอย่างยาวนาน เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมามีความขัดแย้งกัน สาเหตุอาจเป็นเพราะการศึกษาก่อน ๆ มีวิธีการวัดปริมาณเกลือที่รับประทานเข้าไปไม่ถูกต้องแม่นยำมากนัก โดยปกติ เกลือที่เติมเข้าไปในขณะรับประทานอาหารที่โต๊ะอาหารนั้นมีความเข้มข้นของสาร sodium chloride 97 – 99% ซึ่งจะช่วยลดตัวแปรกวนจากสารอาหารอื่น ๆ เช่น โพแทสเซียม (potassium) จึงมีการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ว่า การเติมเกลือลงไปในอาหารเป็นความถี่บ่อยมากน้อยเพียงใดจะสัมพันธ์กับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและอายุขัยหรือไม่
Hao Ma และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยและตีพิมพ์ใน European Heart Journal เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา โดยทำการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 501,379 ราย จากกลุ่มตัวอย่าง UK biobank โดยให้อาสาสมัครทำการกรอกแบบสอบถามทางหน้าจอสัมผัสว่า มีการเติมเกลือลงไปอาหารบ่อยมากน้อยเพียงใดไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน (โดยไม่รวมถึงการเติมเกลือลงไปในขณะปรุงอาหาร) โดยแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่เคยเติมเกลือเลย/น้อยมาก กลุ่มที่เติมเกลือเป็นบางครั้ง และกลุ่มที่เติมเกลือบ่อย/เป็นประจำ เพื่อดูความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผลการศึกษาพบว่า ความถี่ของการเติมเกลือที่มากขึ้นสัมพันธ์กับความเข้มข้นของปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ (spot urinary sodium) หรือการขับโซเดียมใน 24 ชั่วโมง (estimated 24-h sodium excretion) และจากการติดตามอาสาสมัครเป็นระยะเวลา 9 ปี พบว่า มีการเสียชีวิตก่อนวันอันควร (คือ การเสียชีวิตก่อนอายุ 75 ปี) ถึง 18,474 ราย โดยในกลุ่มอาสาสมัครที่มีการเติมเกลือบ่อย/เป็นประจำ พบว่ามีการเสียชีวิตก่อนวันอันควรมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเติมเกลือเลย/น้อยมากถึงร้อยละ 28 การศึกษายังพบอีกว่าในอาสาสมัครกลุ่มที่มีการเติมเกลือบ่อย/เป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่มากขึ้น และที่อายุ 50 ปี พวกเขาจะมีอายุขัยลดลงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเติมเกลือเลย/น้อยมากถึง 1.5 ปีในเพศหญิงและ 2.28 ปีในเพศชาย
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกที่มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับการเติมเกลือลงไปในอาหารและวัดออกมาเป็นปริมาณโซเดียมที่ทานเข้าไปในแต่ละวัน และยังเป็นการศึกษาที่ให้ข้อมูลหลักฐานใหม่ที่สนับสนุนว่าการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงนั้นเป็นโทษต่อสุขภาพ ดังนั้น การรับประมาณผักและผลไม้ที่เพิ่มมากขึ้นจะมีประโยชน์ในการลดผลเสียที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเกลือได้
- https://www.medscape.com/viewarticle/976857
- Hao Ma, Qiaochu Xue, Xuan Wang, Xiang Li, Oscar H Franco, Yanping Li, Yoriko Heianza, JoAnn E Manson, Lu Qi, Adding salt to foods and hazard of premature mortality, European Heart Journal, 2022;, ehac208,