AI สามารถวิเคราะห์เสียงพูดเป็นสัญญาณเตือนก่อนการเกิดหัวใจล้มเหลวจริงประมาณ 3 สัปดาห์ในผู้มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว โดยมีความไวถึงราว 70%
อาการของหัวใจล้มเหลว ได้แก่ หายใจหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ขาบวม ปัสสาวะออกลดลง ซึ่งจำเป็นต้องการได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที อาการหายใจหอบเหนื่อยที่เปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้การพูดเริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งอาจฟังได้ยากในระยะเริ่มต้น นักวิจัยจึงได้พัฒนา application ที่บันทึกและวิเคราะห์เสียง ชื่อว่า Cordio HearO ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการตรวจสอบเสียงผ่านโทรศัพท์ และเก็บไว้ในระบบ cloud เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงไปของเสียงของผู้เข้าร่วมงานวิจัย ที่เป็นสัญญานของภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจกำลังแย่ลง
William T Abraham และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบการทำงานและประสิทธิภาพของ Cordio HearO โดยรวบรวมผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว NewYork Heart Association (NYHA) Class II และ III อายุเฉลี่ย 67 ปี ซึ่งมาติดตามการรักษาแบบผู้ป่วนนอก จาก 6 ศูนย์การรักษาในประเทศอิสราเอล มีการบันทึกเสียงพูดด้วยภาษาหลักของผู้เข้าร่วมงานวิจัย 5 ประโยคเดิมทุกเช้า ใช้เป็นข้อมูลเพื่อสอนให้กับคอมพิวเตอร์ในกลุ่ม development group และเพื่อทดสอบความสามารถของเครื่องมือในกลุ่ม test group ผลพบว่า ในกลุ่ม development group มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว 58 จาก 263 ราย โดยเครื่องมือดังกล่าวสามารถทำนายการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ล่วงหน้า 24 วัน โดยมีความไวที่ 76% และมีอัตราการเกิดผลบวกลวงเท่ากับ 3.15 ครั้ง/คน/ปี ส่วนในกลุ่ม test group มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว 14 จาก 153 ราย โดยเครื่องมือดังกล่าวสามารถทำนายการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ล่วงหน้า 26 วัน โดยมีความไวที่ 71% และมีอัตราการเกิดผลบวกลวงเท่ากับ 2.67 ครั้ง/คน/ปี
นวัตกรรมในการวิเคราะห์เสียงมีความไวสูงในการช่วยทำนายการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว นับเป็นเทคโลโลยีใหม่ที่อาจช่วยให้การรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- https://www.medscape.com/viewarticle/998730?form=fpf#vp_1
- https://www.abstractsonline.com/pp8/?_ga=2.60492589.1249663294.1692203591-1069560823.1691763922#!/10871/presentation/16568