ยาต้านการอักเสบ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) มีที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มีการศึกษาว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเฉพาะในกลุ่มสูงอายุ ระดับ HbA1C สูง และผู้ใช้ยาต้านการอักเสบครั้งแรก
ความผิดปกติของเยื่อบุผิวหลอดเลือดและภาวะบวมน้ำ (Fluid retention) สัมพันธ์กับการใช้ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) และเบาหวานชนิดที่ 2 โดยส่งผลให้มีการทำงานของไตที่ลดลง อัตราการกรองไตลดลง และกล้ามเนื้อหัวใจโต
การศึกษาในประเทศเดนมาร์ก ใช้ข้อมูลของประชากรเดนมาร์ก ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ระหว่างปี 1998 – 2021 ที่ไม่มีการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรครูห์มาติค หรือใช้ยา NSAIDs มาก่อนหน้านี้ 120 วัน เพื่อศึกษาการใช้ยา NSAIDs ในระยะเวลาสั้นจะสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้หรือไม่ ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 331,189 คน เป็นเพศหญิง 44.2% มีค่ากลางอายุ 62 ปี (อายุระหว่าง 52 – 71 ปี) มีผู้ป่วย 23,308 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวระหว่างการติดตามผล และ 16% ของผู้ป่วยได้รับใบสั่งยา NSAIDs อย่างน้อย 1 ครั้งภายใน 1 ปี การใช้ยากลุ่ม NSAID ในระยะสั้นเพิ่มความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว คิดเป็น 1.43 เท่าของผู้ที่ไม่ได้ใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มย่อยที่มีอายุมากกว่า 80 ปี (เพิ่มความเสี่ยง 1.78 เท่า), ระดับ HbA1c สูงร่วมกับได้รับการรักษาด้วยยาลดระดับน้ำตาล 0-1 ชนิด (เพิ่มความเสี่ยง 1.68 เท่า) และไม่มีการใช้ยากลุ่ม NSAIDs มาก่อน (เพิ่มความเสี่ยง 2.71 เท่า)
การใช้ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) โดยสัมพันธ์ตั้งแต่ระยะสั้นของการใช้ยา และส่งผลให้ต้องได้รับการนอนโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว โดยความเสี่ยงจะสูงมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี (มีระดับ HbA1C ที่สูง) และผู้ที่ไม่เคยได้รับยา NSAIDs มาก่อน ดังนั้นก่อนให้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จึงควรได้รับการประเมินและแนะนำข้อดีและข้อเสียจากการใช้ยา
เรียบเรียงโดย พญ. สุภัทรา จงศิริกุล
ข้อมูลจาก https://doi.org/10.1016/j.jacc.2023.02.027