การศึกษา พบว่า การได้รับยาลดความดันโลหิต มีผลทำให้พบการเกิดโรคสะเก็ดเงินเพิ่มมากขึ้น โดยพบในยาลดความดันโลหิตทุกกลุ่ม จึงต้องระมัดระวังและติดตามการรักษาด้วยเสมอ
สะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น ไม่มีการติดเชื้อ และไม่แพร่เชื้อ ไม่ใช่โรคติดต่อ ถึงแม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้โรคสงบได้ ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตตามปกติ และเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและคนรอบข้าง ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการดูแลรักษา เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และควบคุมโรคอย่างได้ผล สำหรับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งพันธุกรรม ปัจจัยภายนอก การได้รับยาต่าง ๆ รวมถึงยาลดความดันโลหิต
Gonjin Song จาก Ewha Womans University, Soul และทีมนักวิจัย ได้รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่ คือ Pubmed, Embase และ Web of Science เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับยาลดความดันโลหิตหลายชนิด และการเกิดโรคสะเก็ดเงิน โดยพบว่าผู้ที่ได้รับยาลดความดันโลหิต จะมีโรคสะเก็ดเงินร่วมด้วยมากกว่าคนปกติถึง 1.67 เท่า และการศึกษานี้ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลของยาแต่ละกลุ่มแยกกันอีกด้วย โดยพบว่ายาลดความดันโลหิตทุกกลุ่มล้วนมีความสัมพันธ์กับโรคสะเก็ดเงินทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยากลุ่ม ACEI (angiotensin-converting enzyme inhibitors), ยากลุ่ม Bata-blocker, ยากลุ่ม CCB (calcium-channel blockers) และยาจำพวกยาขับปัสสาวะ (thiazide diuretics) ซึ่งยากลุ่ม ACEI มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสะเก็ดเงินมากที่สุด คือ เป็น 2.09 เท่า ของประชากรทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ยาลดความดันโลหิต รองลงมา คือ กลุ่ม Thiazide, CCB และ Beta-blocker ตามลำดับ
ข้อมูลจากการศึกษานี้ ทำให้เห็นว่าการได้รับยาลดความดันโลหิตมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสะเก็ดเงิน ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิตทุกกลุ่ม จะต้องเฝ้าระวังและติดตามว่ามีการอักเสบที่ผิวหนังด้วยหรือไม่ มีการอักเสบรุนแรงอย่างไร และวิธีการป้องกันที่เหมาะสม
ข้อมูลจาก
1. https://specialty.mims.com/topic/antihypertensive-drugs
2. https://bpspubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/bcp.15060