ข้อมูลล่าสุดเผยทารกและเด็กเล็กที่ดูหน้าจอโทรทัศน์ หรือวิดีโอ อาจมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น ไม่มีปฏิสัมพันธ์และไม่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งยังแสวงหาสิ่งกระตุ้นที่รุนแรงมากขึ้นในสภาพแวดล้อมรอบตัว หรือถูกครอบงำการรับรู้สัมผัสได้ง่าย เช่น เสียงดัง หรือแสงไฟส่องสว่าง
ทักษะการประมวลผลทางประสาทสัมผัส สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของร่างกายในการตอบสนองต่อข้อมูลและสิ่งเร้า ที่ได้รับจากระบบประสาทสัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม เช่น สิ่งที่เด็กได้ยิน เห็น สัมผัส และลิ้มรส เป็นต้น นักวิจัยพบว่า เด็กที่มีโอกาสดูจอทีวีก่อนอายุ 2 ขวบ มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ผิดปกติ เช่น”รูปแบบการแสวงหาสิ่งเร้า (Sensation seeking)” “รูปแบบหลีกหนีสิ่งเร้า (Sensory avoiding)” และ “การตอบสนองที่ช้าต่อสิ่งกระตุ้น (low registration)” ซึ่งมีความไวน้อยลง หรือช้ากว่าในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น การตอบสนองต่อการถูกเรียกชื่อของเด็กเมื่ออายุ 33 เดือน
ทีมผู้วิจัยนำข้อมูลการดูโทรทัศน์ หรือดีวีดีของทารกและเด็กเล็กอายุ 12 – 18 และ 24 เดือน ระหว่างปี ค.ศ. 2011 – 2014 จากการศึกษาเด็กแห่งชาติจำนวน 1,471 คน (เด็กชาย 50%) ผลลัพธ์การประมวลผลทางประสาทสัมผัส จะได้รับการประเมินเมื่อเด็กอายุ 33 เดือนโดยใช้แบบประเมินทางประสาทสัมผัสของทารก/เด็กวัยหัดเดิน (the Infant/Toddler Sensory Profile; ITSP) ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่กรอกโดยผู้ปกครอง/ผู้ดูแล เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่เด็ก ๆ ประมวลผลสิ่งที่พวกเขาเห็น ได้ยิน และได้กลิ่น ฯลฯ ในระดับย่อยของ ITSP จะตรวจสอบรูปแบบของเด็กที่มีการตอบสนองที่ช้าต่อสิ่งกระตุ้น รูปแบบการแสวงหาสิ่งเร้า เช่น การสัมผัส หรือดมกลิ่นที่มากเกินไป ความไวต่อสิ่งเร้า เช่น อารมณ์เสีย หรือหงุดหงิดมากเกินไปจากการเผชิญแสงและเสียง และรูปแบบการแสวงหาสิ่งเร้า เช่น การพยายามในการควบคุมสภาพแวดล้อม เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ เช่น การแปรงฟัน เป็นต้น การให้คะแนนเด็กแบ่งเป็นกลุ่ม “ทั่วไป” “สูง” หรือ “ต่ำ” ขึ้นอยู่กับความถี่ที่พวกเขาแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสต่างๆ โดยคะแนนที่ถือเป็น “ทั่วไป” คือ อยู่ในช่วงหนึ่งของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ยของมาตรฐาน ITSP การวัดปริมาณการดูจอของเด็กที่อายุ 12 เดือน ขึ้นอยู่กับการตอบคำถามของผู้ดูแล ที่ว่า “ลูกของคุณดูทีวี และหรือดีวีดีหรือไม่ (ใช่/ไม่ใช่)” และเมื่ออายุ 18 และ 24 เดือน ขึ้นอยู่กับคำถาม “ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา หรือมากกว่า ลูกของคุณดูทีวีและหรือดีวีดีโดยเฉลี่ยกี่ชั่วโมงต่อวัน” ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า เมื่อเด็กอายุ 12 เดือน การดูหน้าจอเทียบกับการไม่ดูหน้าจอเลย มีความเป็นไปได้มากกว่า 105% ที่จะแสดงพฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งเร้า “สูง” แทนที่จะเป็นพฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งเร้าแบบ “ทั่วไป” เมื่ออายุ 33 เดือน ในเด็กอายุ 18 เดือน เวลาในการดูหน้าจอที่เพิ่มขึ้นแต่ละชั่วโมงต่อวัน สัมพันธ์กับโอกาสที่เพิ่มขึ้น 23% ที่จะแสดงพฤติกรรมการหลีกหนีสิ่งเร้า (Sensory avoiding) “สูง” ซึ่งต่อมาจะเกิดการตอบสนองที่ช้าต่อสิ่งกระตุ้น (low registration) และเมื่ออายุ 24 เดือน เวลาหน้าจอที่เพิ่มขึ้นในแต่ละชั่วโมงต่อวัน สัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสที่จะแสวงหาสิ่งเร้า (Sensation seeking) ความไวต่อสิ่งเร้า และการหลีกหนีสิ่งเร้า (Sensory avoiding) “สูง” เมื่ออายุ 33 เดือน กว่า 20% การค้นพบนี้สะท้อนผลลัพธ์ด้านสุขภาพ และพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับเวลาในการดูหน้าจอของทารกและเด็กเล็กที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความล่าช้าทางภาษา โรคออทิสติก ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาด้านสมาธิ และการแก้ปัญหาได้อย่างล่าช้า
ทั้งนี้ American Academy of Pediatrics (AAP) ไม่สนับสนุนการดูหน้าจอสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 – 24 เดือน แต่ยังถือว่าการพูดคุยผ่านวีดีโอเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากอาจได้รับประโยชน์จากการโต้ตอบที่เกิดขึ้น และ AAP แนะนำให้จำกัดเวลาในการใช้สื่อดิจิทัลสำหรับเด็กอายุ 2 – 5 ปี โดยทั่วไปจะไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนี้ การฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเป็นกุญแจสำคัญในการลดเวลาหน้าจอในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือหวังว่าจะหลีกเลี่ยงได้ด้วยซ้ำ
เรียบเรียงโดย พญ. พนิดา วิจารณ์
ข้อมูลจาก www.sciencedaily.com/releases/2024/01/240108125727.htm