การวิจัยพบว่าน้ำไขสันหลังของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 ร่วมกับมีภาวะพุทธิปัญญาถดถอย หรือมีอาการสมองล้าตามหลังจากการป่วยนั้นมีค่าการอักเสบที่มากกว่าปกติ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการทางระบบประสาทมีค่าการอักเสบอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การติดเชื้อโควิด 19 อาจไม่ได้มีเพียงแต่อาการของระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากระหว่างการติดเชื้อนั้น ร่างกายถูกกระตุ้นให้มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมากกว่าปกติ จนอาจทำให้เกิดการอับเสบ ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมไปถึงระบบประสาท อันหนึ่งที่พบได้คือ “ภาวะสมองล้า (Brain fog)” ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จัดเป็นอาการหนึ่งของภาวะลองโควิด (Long covid) อย่างไรก็ดี ยังมีการถกเถียงกันว่าภาวะดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อโควิด 19 มากน้อยเพียงใด
การศึกษาผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด 19 และมีภาวะสมองล้าจำนวน 23 ราย โดยทำการเจาะน้ำไขสันหลัง แล้ววัดค่าทางระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งบ่งถึงการอักเสบในระบบประสาท เปรียบเทียบกับผู้ป่วยจำนวน 10 ราย ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 แต่ไม่มีอาการทางระบบประสาท พบว่ากลุ่มที่มีอาการสมองล้ามีค่าการอักเสบสูงกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ และเมื่อเปรียบเทียบในรายละเอียดพบว่า ผู้ที่มีอาการสมองล้าไม่นานหลังจากการติดเชื้อโควิด 19 (Acute onset) ยังมีค่าการอักเสบสูงกว่าผู้ที่มีอาการสมองล้าตามหลังจากการติดเชื้อโควิดประมาณ 1 เดือน (Delayed onset) อีกด้วย ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่าการศึกษานี้อาจช่วยบอกถึงกลไกลที่แตกต่างกันของการเกิดภาวะสมองล้าในแต่ละช่วงเวลา
ค่าการอักเสบที่วัดจากน้ำไขสันหลังในผู้ที่มีอาการสมองล้า หลังจากการติดเชื้อโควิด 19 ช่วยยืนยันถึงหลักฐานของภาวะดังกล่าว ซึ่งบางครั้งอาจแยกได้ยากกับอาการทางจิตเวช หรือภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาในจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น รวมถึงวัดค่าตัวบ่งชี้ที่จำเพาะเจาะจงกับโรคโควิด 19 มากขึ้น
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/971408#vp_2