การศึกษาขนาดใหญ่จากเกาหลี พบว่าการหยุดสูบบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังสูบต่อเนื่อง
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งในหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น ถึงแม้ว่าหลายการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการเลิกสูบบุหรี่ สัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ยังสูบต่อเนื่อง แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ยังเป็นข้อมูลของประชากรในฝั่งตะวันตก
Eunjung Park และคณะ จากประเทศเกาหลี ได้ติดตามจากข้อมูลระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวนเกือบ 3 ล้านราย อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป โดยเกือบ 60% เป็นผู้ชาย มีการเก็บข้อมูลการสูบบุหรี่ตามพฤติกรรมการสูบ เช่น เลิกสูบถาวรโดยสมบูรณ์ เลิกสูบชั่วคราว หรือยังคงสูบต่อเนื่อง รวมถึงระยะเวลาที่เลิกสูบ และอายุที่เลิกสูบ จากการติดตามกว่า 13 ปี พบผู้เข้าร่วมงานวิจัยเกิดเป็นมะเร็งที่ตำแหน่งต่าง ๆ เกือบ 2 แสนราย และพบว่า ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่อย่างถาวรมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทุกตำแหน่งลดลง 17% มะเร็งปอดลดลง 42% มะเร็งตับลดลง 27% มะเร็งกระเพาะอาหารลดลง 14% และมะเร็งลำไส้ลดลง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ยังสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มลดลงที่ 10 ปีหลังหยุดบุหรี่ และลดลงเป็นครึ่งหนึ่งเมื่อหยุดได้นานกว่า 15 ปีขึ้นไป ส่วนความเสี่ยงมะเร็งปอดลดลงเร็วกว่ามะเร็งตำแหน่งอื่น ๆ 3 ปี และผลเป็นทำนองเดียวกันไม่ว่าจะหยุดสูบบุหรี่ที่อายุเท่าไร แต่การหยุดสูบตั้งแต่อายุน้อยกว่า 50 ปี จะลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่หยุดสูบหลังอายุ 50 ปี
การศึกษาขนาดใหญ่นี้ชี้ให้เห็นว่า การหยุดสูบบุหรี่มีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด การหยุดนานกว่า 10 ปีขึ้นไป และหยุดตั้งแต่อายุน้อยกว่า 50 ปี ยิ่งมีผลลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่ต่อเนื่อง
- https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2814567
- https://www.mims.com/specialty/topic/cancer-risk-reduced-a-decade-after-smoking-cessation