การใช้กัญชาในระยะยาวมีแนวโน้มจะส่งผลให้เกิดภาวะพุทธิปัญญาบกพร่องและปริมาตรสมองส่วน hippocampus ลดลงในวัยกลางคน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อภาวะสมองเสื่อม
ปัจจุบันมีการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มีหลายการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ใช้กัญชามีภาวะพุทธิปัญญาบกพร่องและมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของสมอง แต่ข้อมูลการศึกษาส่วนใหญ่มาจากกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แต่ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า การใช้กัญชาในระยะยาวถึงช่วงวัยกลางคนจะมีความสัมพันธ์กับภาวะพุทธิปัญญาบกพร่อง และมีปริมาตรสมองส่วน hippocampus ที่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อภาวะสมองเสื่อมในอนาคต
นักวิจัยได้ทำการศึกษาเพื่อดูผลกระทบระยะยาวของการใช้กัญชาต่อภาวะพุทธิปัญญาบกพร่อง และปริมาตรของสมองส่วน hippocampus โดยทำการศึกษาแบบ cohort ในผู้ที่เกิดในเมือง Dunedin ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างปี ค.ศ. 1972 – 1973 ทั้งหมด 1,037 ราย โดยติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษาจนอายุครบ 45 ปี นักวิจัยเก็บข้อมูลการใช้กัญชาของผู้เข้าร่วมการศึกษาที่อายุ 18, 21, 26, 32, 38 และ 45 ปี ประเมินคะแนน IQ ที่อายุ 7, 9, 11, 45 ปี และประเมินทางประสาทจิตวิทยา (neuropsychological functions) และปริมาตรของสมองส่วน hippocampus ที่อายุ 45 ปี ผลการศึกษาพบว่า ผู้ใช้กัญชาในระยะยาวมี IQ ลดลงตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยกลางคน (ค่าเฉลี่ยลดลง 5.5 คะแนน) ความสามารถและความเร็วในการเรียนรู้และการประมวลผลต่ำลง และมีปัญหาด้านความจำ (memory) และความตั้งใจ (attention) ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใช้กัญชาในระยะยาวเท่านั้น ไม่พบในผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ผู้ที่เลิกใช้กัญชาไปแล้ว หรือผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ระยะยาว นอกจากนี้ยังพบว่าสมองส่วน hippocampus มีปริมาตรลดลงในผู้ที่ใช้กัญชาระยะยาว แต่จากการวิเคราะห์ทางสถิติไม่สามารถสรุปได้ว่าปริมาตรของ hippocampus ที่ลดลงนั้นเป็นจากการใช้กัญชาโดยตรง
งานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชาในระยะยาวมีผลต่อภาวะพุทธิปัญญาบกพร่องและปริมาตรสมองส่วน hippocampus ที่ลดลงในช่วงวัยกลางคน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสิ่งสำคัญต่อภาวะสมองเสื่อม แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อศึกษาผลของการใช้กัญชาในระยะยาวต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุในภายหลังต่อไป
- https://specialty.mims.com/topic/long-term-cannabis-use-leads-to-cognitive
- Am J Psychiatry 2022;179:362-374