การใช้กัญชาในผู้ป่วย ควรได้รับการพิจารณาเป็นหนึ่งในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งมีอาการของภาวะน้ำตาลสูงวิกฤติทำให้เลือดเป็นกรด Diabetic Ketoacidosis, DKA แต่กลับมีระดับ pH และไบคาร์บอเนตในเลือดสูงกว่าเกณฑ์การวินิจฉัย DKA ทั่วไป
ภาวะน้ำตาลสูงวิกฤติ DKA เป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งพบได้บ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เพราะการขาดฮอร์โมนอินซูลินทำให้ น้ำตาลสูงวิกฤติ และทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดตามมา ส่วนอาการจากการใช้กัญชามาเป็นเวลานานหรือใช้ในปริมาณมาก ๆ (Cannabis hyperemesis syndrome, CHS) คือ อาการอาเจียนรุนแรง อาเจียนทุกเช้า และปวดท้อง ซึ่งคล้ายกับอาการของ DKA
ในปี ค.ศ. 2018 ทีมของ Barbara Davis Center พบว่าผู้ใหญ่ประมาณ 30% คือราว 135 ราย จาก 450 ราย ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 รายงานว่าตนเองใช้กัญชา และการใช้กัญชานี้สัมพันธ์กับความเสี่ยงของ DKA ที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ใช้กัญชา Halis Kaan Akturk และคณะจากรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ใหญ่ 68 รายที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ร่วมกับได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น DKA และเข้าเกณฑ์การวิจัย จะได้รับการถามประวัติการใช้กัญชา และตรวจปัสสาวะหาส่วนประกอบของกัญชา ผลวิจัยพบ DKA ทั้งหมด 172 เหตุการณ์ และพบว่าผู้ใช้กัญชามีค่าความเป็นด่าง (pH) และไบคาร์บอนเนตในเลือดมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้กัญชาอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้ผู้วิจัยได้ตั้งชื่อของภาวะน้ำตาลสูงวิกฤติและภาวะอาเจียนรุนแรงจากกัญชาที่เกิดร่วมกันว่าเป็น Hyperglycemic Ketosis due to Cannabis Hyperemesis Syndrome (HK-CHS) คือ เลือดที่ควรจะเป็นกรดในโรค DKA กลับไม่เป็นกรดเพราะสมดุลของกรดด่างในเลือดเปลี่ยนแปลงจากอาการอาเจียนรุนแรงหลังการใช้กัญชานั่นเอง
ในผู้ป่วยที่มาด้วยน้ำตาลสูงวิกฤติซึ่งสงสัยภาวะ DKA แต่ค่าเลือดกลับไม่เป็นกรด แพทย์ควรนึกถึงประวัติการใช้กัญชาของผู้ป่วยในการวินิจฉัยแยกโรคด้วย การตรวจ pH หรือไบคาร์บอเนตที่ปกติอาจไม่เพียงพอสำหรับการตัดภาวะ DKA ออกไปในผู้ที่มีน้ำตาลสูง และสงสัยการใช้กัญชา
- https://www.medscape.com/viewarticle/965033#vp_1
- https://diabetesjournals.org/care/article-abstract/45/2/481/139018/Differentiating-Diabetic-Ketoacidosis-and?redirectedFrom=fulltext