งานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุในสถานพยาบาลมีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด 19 ลดลงภายใน 6 เดือนหลังการฉีดวัคซีน BNT162b2 (Pfizer-BioNtech) ครบ 2 เข็ม ข้อมูลนี้ช่วยเน้นย้ำความสำคัญของการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ผู้สูงอายุ
เป็นที่ทราบดีว่า ผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลระยะยาวเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 และเป็นเป้าหมายหลักของการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการระบาดในสถานพยาบาล การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า วัคซีน BNT162b2 มีประสิทธิผลดีในผู้สูงอายุ นักวิจัยจึงทำการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อติดตามการคงอยู่ของระดับภูมิคุ้มกันในประชากรกลุ่มนี้
Sergio Salmerón Ríos และทีมวิจัยจากสเปนได้ทำการศึกษา และมีการติดตามระยะยาวในกลุ่มผู้สูงอายุที่พักอาศัยกับสถานพยาบาลในประเทศสเปนจำนวน 127 คน ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีน BNT162b2 ครบสองเข็มตามเวชปฏิบัติ ทำการวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด 19 ที่ 1 และ 6 เดือน หลังได้รับวัคซีน และคำนวณอัตราส่วนของการเปลี่ยนแปลงระดับภูมิคุ้มกันที่วัดได้ระหว่างสองช่วงเวลาดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด 19 ลดลงถึง 77% โดยเกือบ 50% มีระดับภูมิคุ้มกันลดลง 70-89% และ 20% มีระดับภูมิคุ้มกันลดลง 50-69% นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มที่มีระดับภูมิคุ้มกันลดลงมากเกิน 90% มักพบร่วมกับการมีภาวะภูมิต้านทานบกพร่องอยู่เดิม เช่น ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หรือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น ทั้งนี้โอกาสที่ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงเกิน 70% ขึ้นไปในระยะเวลา 6 เดือน จะน้อยลงในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีประวัติติดเชื้อโควิด 19 ก่อนได้รับวัคซีน BNT162b2 อย่างไรก็ตาม เมื่อนำปัจจัยด้านอายุ เพศ โรคประจำตัว และภาวะทางสมองมาวิเคราะห์ร่วม ไม่พบว่าสัมพันธ์กับการลดลงของระดับภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุแต่อย่างใด
การศึกษานี้ได้ข้อสรุปว่า ผู้สูงอายุที่พักอาศัยในสถานพยาบาลมีการลดลงของระดับภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด BNT162b2 ภายในเวลา 6 เดือน จึงเป็นข้อมูลช่วยสนับสนุนการให้วัคซีนกระตุ้นเข็มกระตุ้นแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้
ข้อมูลจาก
1. https://specialty.mims.com/topic/covid-19-vaccine-antibodies
2. https://agsjournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/jgs.17620?campaign=woletoc