มีการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่ติดเชื้อ COVID-19 ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการคลอด มากกว่าผู้หญิงที่ติดเชื้อในระยะแรกของการตั้งครรภ์ รวมถึงผู้หญิงที่ไม่ติดเชื้อเลย
สตรีตั้งครรภ์มีโอกาสติดเชื้อโควิด 19 ไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป แม้ว่าสตรีตั้งครรภ์ร้อยละ 80 มักไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่เมื่อมีอาการป่วยรุนแรง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การเข้าหอผู้ป่วยวิกฤติ การใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่าสตรีไม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 นอกจากนั้นสตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคประตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะอ้วน และอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคมีอาการรุนแรงมากขึ้น
Sarah J.Stock จาก University of Edinburgh Usher Institute และทีมงาน ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของสตรีมีครรภ์ในสกอตแลนด์มากกว่า 87,000 ราย ระหว่างเดือนธันวาคม 2020 ถึงตุลาคม 2021 โดยพบว่าการคลอดก่อนกำหนดและการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในสตรีที่ติดเชื้อก่อนคลอด 28 วันหรือน้อยกว่า ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่นั้นเกิดในสตรีที่ไม่ได้รับวัคซีน และเมื่อเทียบแล้ว สตรีมีครรภ์มีการได้รับฉีดวัคซีนที่น้อยกว่าประชากรสตรีทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตปริกำเนิดของทารกที่เกิดภายใน 28 วัน หลังผู้เป็นแม่ติดเชื้อมีการเพิ่มขึ้นถึง 23 รายต่อการเกิด 1,000 ครั้ง โดยการเสียชีวิตทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสตรีที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในตอนที่ติดเชื้อ ราว 17% ของทารกที่เกิดภายใน 28 วันหลังผู้เป็นแม่ติดเชื้อนั้นคลอดก่อนกำหนด (ก่อนกำหนดมากกว่า 3 อาทิตย์)
ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สรุปว่า COVID-19 มีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตหรือการคลอดก่อนกำหนดโดยตรง เนื่องจากไม่มีข้อมูลรายละเอียดของสตรีแต่ละคนมากพอ จากการติดตามอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนในสตรี ที่ได้รับวัคซีนในระหว่างที่ตั้งครรภ์ พบว่าอัตราการตายปริกำเนิดอยู่ที่ 4 ต่อ 1,000 และอัตราการคลอดก่อนกำหนดอยู่ที่ 8% ซึ่งคล้ายกับอัตราปกติเลย จึงสร้างความมั่นใจได้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนระหว่างตั้งครรภ์
การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มหลักฐานให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนในระหว่างที่ตั้งครรภ์นั้นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ แต่การติดเชื้อ COVID-19 นั้นถือเป็นตัวที่เพิ่มความเสี่ยง การฉีดวัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันทั้งแม่และเด็กจากภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่าง ๆ การฉีดวัคซีนสามารถทำได้ในทุกช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์รวมถึงผู้ที่มีความคิดจะตั้งครรภ์ได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด
ข้อมูลจาก https://www.sciencedaily.com/releases/2022/01/220113111358.htm