การศึกษา ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) กับการพยากรณ์โรคโควิด 19 พบว่า ภาวะดังกล่าวไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคโควิด 19 โดยพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ มีอัตราการเสียชีวิตไม่ต่างกับผู้ป่วยทั่วไป และมีระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลและสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าผู้ป่วยทั่วไปอีกด้วย
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่ต่อมาอาจแสดงอาการต่าง ๆ เช่น มีภาวะอ้วน การทำงานของหัวใจผิดปกติ ปวดตามข้อต่าง ๆ หรือเกิดภาวะมีบุตรยาก ทั้งนี้การศึกษาก่อนหน้า พบโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด หัวใจ โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลต่อการพยากรณ์โรคโควิด 19 การศึกษาผลของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ต่อพยากรณ์โรคโควิด 19 จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพ
Daniella Nunes Pereira จาก USMG และทีมงาน ได้ทำการศึกษาโดยใช้ฐานข้อมูลจาก Covid-19 Registry ของโรงพยาบาลในประเทศบราซิล เป็นข้อมูลผู้ป่วยโควิดที่นอนโรงพยาบาลตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน 2020 จำนวน 7,762 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำจำนวน 526 ราย และกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โดยเปรียบเทียบเรื่องเพศ อายุ โรคประจำตัวและโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา โดยใช้ Propensity score model พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีระยะเวลาที่มีอาการโรคโควิด 19ประมาณ 6 วันเท่า ๆ กัน โดยผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ป่วยทั่วไปแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่มีระยะเวลานอนโรงพยาบาล สัดส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สัดส่วนผู้ป่วยที่มีอัตราการหายใจที่มากกว่า 24 ครั้งต่อนาทีเมื่อแรกรับ, และสัดส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจ ตั้งแต่แรกรับน้อยกว่าผู้ป่วยทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
การศึกษานี้ อาจทำให้ไม่จัดผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ อยู่ในกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัด เช่น การวินิจฉัยโดยอาศัยการซักประวัติ โดยไม่ได้ตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ ประกอบกับภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์สัมพันธ์กับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้ออักเสบ ที่อาจมีผลในผู้ป่วยโควิดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ในเบื้องต้นผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงยังควรได้รับการดูแลตามมาตรฐานการรักษาต่อไป
ข้อมูลจาก
- https://www.ijidonline.com/article/S1201-9712(22)00016-9
- https://specialty.mims.com/topic/hypothyroidism-not-associated-with-worse-prognosis-in-covid-19