ผลการศึกษาพบว่า ความเครียดของหญิงสาวในช่วงโรคระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลต่อการตกไข่ แม้ว่ารอบเดือนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเกิดระยะหลังไข่ตกสั้นลงไปจนถึงไม่มีการตกไข่ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ลดลงเมื่อเผชิญกับความเครียดดังกล่าว
ก่อนหน้านี้มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดและการหยุดชะงักของการตกไข่ในหลากหลายรูปแบบ แต่พบว่าความเครียดเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตกไข่ในผู้หญิงทุก ๆ คน เป็นที่น่าสนใจว่าความเครียดในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลกและเวลายาวนานนั้นส่งผลกระทบเช่นเดียวกันหรือไม่
Jerilynn C. Prior ได้นำเสนองานวิจัย ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งสหรัฐอเมริกา (ENDO 2022) ครั้งล่าสุดเมื่อมิถุนายนปีนี้ ซึ่งสำรวจข้อมูลจากสตรีอาสาสมัครอายุเฉลี่ย 29 ปี ที่มีประจำเดือนปกติและไม่มีการใช้ฮอร์โมนเพื่อคุมกำเนิด ในช่วงปีค.ศ. 2006 – 2008 ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด 19 และค.ศ. 2020 – 2021 ระหว่างเกิดโรคระบาดดังกล่าว จำนวน 301 และ 125 รายตามลำดับ โดยทั้งหมดไม่เคยติดเชื้อโควิด 19 พบว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีระยะห่างของรอบเดือนเฉลี่ย 30 วัน แต่กลุ่มหลังพบจำนวนสตรีที่มีการตกไข่ผิดปกติไม่ว่าจะเป็นระยะหลังตกไข่ที่สั้นลงหรือไม่มีการตกไข่เลยมากถึง 63% และจำนวนสตรีที่ไม่มีบุตรมากกว่ากลุ่มแรก โดยกลุ่มแรกมีจำนวนสตรีที่มีการตกไข่ผิดปกติเพียง 10% และพบว่าบันทึกประจำวันของสตรีในกลุ่มหลังมีการกล่าวถึงอารมณ์ด้านลบ ความวิตกกังวล การนอนไม่หลับ ความเครียดจากภายนอก การตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง ความสนใจเรื่องเพศ ความอยากอาหาร และอาการปวดประจำเดือนบ่อยกว่ากลุ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของการตกไข่อีกด้วย ความยาวและระยะห่างของรอบเดือนที่ไม่แตกต่างกันแต่การตกไข่มีความผิดปกติต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของทั้ง 2 กลุ่มนั้นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มหลังที่อยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนค่อนข้างปกติ แต่ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลงอย่างชัดเจน
ผลการศึกษานี้ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการตอบสนองของสมองต่อแรงกดดันต่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งบางอย่างไม่มีการแสดงอาการออกมาหรือแสดงออกมาไม่ชัดเจน และปัญหาการตกไข่ที่ผิดปกตินี้ควรได้รับการศึกษาต่อไปเมื่อการระบาดของโรคเปลี่ยนแปลง
เรียบเรียงโดย พญ. นิษฐา ปรุงวิทยา
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/975833