การศึกษาพบว่า แม้ผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรงในอดีตจะมีโอกาสเกิดอาการแพ้วัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป อย่างไรก็ตามคนในกลุ่มดังกล่าวสามารถรับวัคซีนโควิด-19ชนิด mRNAได้ตามปกติภายใต้คำแนะนำและการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีการแนะนำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามวัคซีนโควิด19โดยเฉพาะชนิด mRNA เป็นวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการเกิดอาการแพ้หลังฉีดวัคซีนยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีประวัติการแพ้รุนแรงในอดีต นักวิจัยจึงทำการศึกษาเพื่อประเมินโอกาสการแพ้วัคซีนของคนกลุ่มนี้เทียบกับประชากรทั่วไป
จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 52,998 คน ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 1 โดส ระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. 63 – 1 ก.พ. 64 พบว่า ผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรงในอดีตมีการเกิดอาการแพ้โดยรวมในวันที่ 3 หลังจากการฉีดวัคซีนมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป 2.5 เท่า และมีการเกิดผื่นลมพิษมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป 4 เท่า กลุ่มผู้สูงอายุ คนผิวดำ คนที่มีคะแนน Charlson comorbidity index score สูง และกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนยี่ห้อ Moderna สัมพันธ์กับการเกิดอาการแพ้หลังการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น ในขณะที่กลุ่มคนเพศชายสัมพันธ์กับการเกิดอาการแพ้หลังฉีดวัคซีนที่น้อยลง มีผู้รายงานอาการแพ้รุนแรงทั้งหมด 140 คน คิดเป็น 0.3% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด โดยกลุ่มผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรงในอดีตมีค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์เป็น 5.2 เท่าของคนทั่วไป อาการแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่ อาการผื่นคันบริเวณที่ไม่ใช่ตำแหน่งฉีดวัคซีน อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น แน่นหน้าอกหรือหายใจลำบาก ลมพิษ และผื่นลมพิษ โดยอาการแพ้นั้นพบได้หลังจากการได้รับวัคซีนโดสแรกมากกว่าโดสที่ 2 และการเกิดอาการแพ้หลังจากการฉีดวัคซีนโดสแรกไม่ได้เป็นข้อห้ามในการเข้ารับวัคซีนชนิดเดียวกันเป็นโดสที่ 2 ทีมวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจไม่ใช่อาการแพ้ที่แท้จริง หรืออาจเป็นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่ไม่ผ่าน IgE
แม้ปัจจุบันแนวทางปฏิบัติหลายฉบับ จะกำหนดให้การมีประวัติการแพ้รุนแรงในอดีตเป็นข้อห้ามของการรับวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA แต่ CDC สหรัฐฯ ยังคงอนุญาตให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้ารับวัคซีนได้ตามปกติ ภายใต้คำแนะนำและการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้เข้ารับบริการและแพทย์เฉพาะทาง อย่างไรก็ตามผู้ที่มีประวัติแพ้สาร PEG ต้องเข้ารับการปรึกษาเป็นพิเศษ และยังคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเกี่ยวกับความปลอดภัยของการรับวัคซีนต่อไป
ข้อมูลจาก https://specialty.mims.com/topic/mrna-covid-19-vaccine