ผลการวิจัยใหม่พบว่า การฉีดวัคซีน COVID-19 ไม่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของทั้งชายและหญิง แต่ผู้ชายที่ติดเชื้อ COVID-19 อาจมีภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงชั่วคราวในระยะสั้น
Amelia K Wesselink และทีมนักวิจัยจาก Boston University School of Public Health (BUSPH) ได้ทำการศึกษาในคู่ที่ประสงค์จะตั้งครรภ์ พบว่าวัคซีน COVID-19 ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการมีบุตรของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech, Moderna, Johnson & Johnson แต่ในทางกลับกัน ผลการศึกษาชี้ว่า อาจมีภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงชั่วคราวในชายที่ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งการติดเชื้อนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการได้รับวัคซีน
การศึกษานี้มีผู้หญิงเข้าร่วมทั้งหมด 2,126 คนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยทั้งหมดได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ lifestyle ปัจจัยทางการแพทย์ และลักษณะของคู่รักตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ถึงเดือนกันยายน 2021 และติดตามถึงเดือนพฤศจิกายน 2021 ผลที่ได้พบว่า อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มนั้นเทียบเท่ากับของผู้หญิงที่ไม่ได้รับวัคซีน และความสามารถในการมีบุตรของผู้ชายที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มและผู้ชายที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็มีความคล้ายคลึงเช่นกัน จากการวิเคราะห์เพิ่มเติม จำนวนครั้งที่ได้รับวัคซีน ยี่ห้อวัคซีน ประวัติการมีบุตรยาก อาชีพ และภูมิภาค ไม่มีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์เช่นกัน แม้ว่าการติดเชื้อ COVID-19 จะไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะเจริญพันธุ์มากนัก แต่ผู้ชายที่ตรวจพบเชื้อภายใน 60 วัน มีภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงเมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่เคยตรวจพบเชื้อหรือผู้ที่ตรวจพบเชื้ออย่างน้อย 60 วันก่อนหน้า
การศึกษานี้ให้ความมั่นใจในการฉีดวัคซีน ว่าจะไม่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของคู่หญิงชายที่มีความประสงค์จะมีบุตร ข้อมูลใหม่นี้ยังช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 กับภาวะเจริญพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากรายงานของสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหลังการฉีดวัคซีนอีกด้วย
ข้อมูลจาก https://www.sciencedaily.com/releases/2022/01/220120135142.htm