ตัวเลขผู้ป่วยโควิด 19 ที่เกิดภาวะลองโควิด (Long COVID) มีความหลากหลายเปลี่ยนไปตามงานวิจัย การศึกษาในอเมริกาพบ ผู้ป่วยโควิด 19 มีภาวะลองโควิดสูงถึงร้อยละ 30
ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการเกิดลองโควิดภายหลังการติดเชื้อโควิด 19 ในผู้ป่วยทั่วโลก ทั้งอุบัติการณ์ของลองโควิดจากหลายการศึกษา ก็ยังมีตัวเลขที่หลากหลายในแต่ละงานวิจัย
Sun M Yoo จาก UCLA และทีมวิจัย ได้ทำการศึกษาอุบัติการณ์ของการเกิดลองโควิดในผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 1,038 คน โดยเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามอาการต่าง ๆ ในช่วง 60-90 วัน หลังติดเชื้อหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบผู้ที่มีอาการลองโควิด 309 คน หรือประมาณ 30% โดยอาการที่พบมากในกลุ่มที่เคยเป็นผู้ป่วยใน ได้แก่ ภาวะอ่อนล้า 31 % หายใจไม่อิ่ม 15 % ขณะที่อาการที่พบในกลุ่มผู้ป่วยนอก ได้แก่ การสูญเสียการได้กลิ่น 16 % สัดส่วนของผู้ป่วยลองโควิดจากงานวิจัยนี้อาจแตกต่างจากการศึกษาก่อนหน้าเนื่องจากการวินิจฉัยผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ ของการมีอาการลองโควิดมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามนักวิจัยพบว่า ประวัติการรับการรักษาแบบผู้ป่วยใน การมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน และค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) สูง สัมพันธ์กับโอกาสการเกิดลองโควิดมากขึ้น ในทางกลับกัน อายุที่มากขึ้น และเศรษฐานะ ซึ่งมักพบว่าสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคโควิด 19 กลับไม่พบว่าทำให้อัตราเสี่ยงในการเป็นลองโควิดสูงขึ้น
ผลที่ได้จากการศึกษานี้แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติม ถึงอุบัติการณ์ที่แท้จริงของภาวะลองโควิดในแต่ละกลุ่มประชากร รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ต่อไป
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/972536