CDC แห่งสหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์สนับสนุนการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในประชากรเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปีแล้ว หลังวัคซีน Moderna และ Pfizer/BioNTech ได้รับการอนุมัติใช้โดย FDA และผ่านมติจากอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างเป็นเอกฉันท์
เด็กเล็กและทารกนับเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการเกิดความรุนแรงหลังการติดเชื้อโควิด 19 ผู้ปกครองจำนวนมากตกอยู่ในความกังวลเกี่ยวกับการป้องกันโรคให้บุตรหลานของตัวเอง ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2022 อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Advisory Committee on Immunization Practices – ACIP) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ อนุมัติการใช้วัคซีน Moderna ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี และอนุมัติวัคซีน Pfizer/BioNTech ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี แล้ว
Rochelle Walensky ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แถลงการณ์สนับสนุนมติของ ACIP และองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่สามของเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป CDC ย้ำให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จากข้อมูลตลอดช่วงการระบาดที่ผ่านมา โรคโควิด 19 เป็นสาเหตุการตายลำดับต้นในเด็กอายุ 0-19 ปี และมีเด็กเล็กในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี เสียชีวิตแล้วกว่า 200 ราย จึงสนับสนุนให้ผู้ปกครอง ขอคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์ถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้บุตรหลานเข้ารับวัคซีนในครั้งนี้ แถลงการณ์นี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics – AAP) และ สมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association – AMA) อีกด้วย
สำหรับวัคซีน Moderna ที่ใช้ในกลุ่มอายุ 6 เดือนถึง 5 ปีนี้ จะมีขนาด 25 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้าม 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน โดยมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในผู้ใหญ่ (ร้อยละ 36-51 ขึ้นกับช่วงอายุ) ส่วนวัคซีน Pfizer มีขนาด 3 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้าม 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 21 และอีก 60 วันนับจากเข็มที่ 2 (สืบเนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีน 2 เข็มต่อสายพันธุ์โอมิครอนไม่เป็นที่น่าพอใจ) อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer ยังมีคำถามจากผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการในกลุ่มวิจัยมีจำนวนไม่มากพอ และการติดตามอาการก็ยังทำในช่วงเวลาสั้น จึงอาจต้องทำการศึกษาต่อไปจึงจะสามารถสรุปผลประสิทธิภาพได้แม่นยำขึ้น
วัคซีนทั้งสองยี่ห้อ พบผลข้างเคียงเพียงอาการปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีด อาสาสมัครจำนวนหนึ่งมีอาการไข้ ร้องกวน กินได้น้อย ซึ่งความรุนแรงไม่มาก และมีอาการไม่เกิน 1-3 วัน โดยไม่พบอุบัติการณ์ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือการเสียชีวิตแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดร่วมกับวัคซีนอื่นที่ใช้ในปัจจุบันในเด็กเล็ก ข้อมูลจากงานวิจัยจำกัดช่วงเวลาการรับวัคซีนอื่นก่อนและหลังการรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่ระหว่าง 2-4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลการให้วัคซีนในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องปานกลางถึงรุนแรงอีกด้วย
การเริ่มฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรเด็กเล็กและทารกกลุ่มนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ในการต่อสู้กับโรคโควิด 19 งานวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิผลการใช้วัคซีนจริงในประชากรเด็กเล็กจะดำเนินการหลังการระดมฉีดวัคซีนเริ่มขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลที่สำคัญและวางแผนการศึกษาการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กเล็กต่อไป
เรียบเรียงโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/975875?src=