รวบรวมข้อมูล RCT ด้วย meta-analysis พบว่า การรักษา OSA ด้วยเครื่อง CPAP ลดความดันโลหิตลงได้แต่ลดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตไม่ต่างไปจากการไม่ใช้ CPAP และในกลุ่มผู้ใช้ CPAP จะได้ประโยชน์เมื่อใช้เครื่องอย่างถูกต้องและต่อเนื่องสม่ำเสมอ
โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ (obstructive sleep apnea) พบมากขึ้น และสร้างปัญหาต่อระบบหลอดเลือด คือ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และหากรักษาโรคนี้จะทำให้ระดับความดันโลหิตลดลง ซึ่งพออนุมานได้ว่าอัตราการเกิดโรคและผลแทรกซ้อนต่อหัวใจจะลดลงด้วย แต่ไม่ได้วัดผลโดยตรง การศึกษานี้จึงรวบรวมการศึกษามาเป็น meta-analysis เพื่อหาความสัมพันธ์ของการรักษาด้วย CPAP กับอัตราการเกิดโรคหัวใจโดยตรง
ทีมการศึกษาจากสเปน ทำการวิจัยแบบ meta-analysis จากการศึกษา RCTs รักษาโรค OSA ด้วยเครื่อง CPAP ที่มีการวัดผลหลัก คือ การเกิดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ซึ่งการศึกษานี้นอกจากใช้การวิเคราะห์ผลลัพธ์หลักของ RCT ตามปกติ ยังมีการวิเคราะห์ individual participant data ที่จะทำการวิเคราะห์ความโน้มเอียงปัจจัยต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น
รวบรวมการศึกษาได้ตามเกณฑ์จำนวน 3 RCTs จำนวนผู้เข้าร่วม 4,168 คน ที่ส่วนมากเป็นผู้ชาย อายุประมาณ 60 ปี ระยะเวลาการติดตามผล 34 – 52 เดือน และประมาณ 70% เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตัวเลข apnea-hypoxia index ประมาณ 27 และการศึกษาทั้งสามนี้เป็นการเปรียบเทียบการใช้ CPAP กับ ไม่ใช้ CPAP
ผลการวิเคราะห์ พบว่า การเกิดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 16% กลุ่มได้รับ CPAP เกิดเหตุ 349 ราย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ CPAP เกิดเหตุที่ 342 ราย แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ hazard ratio 1.01 95%CI (0.87 – 1.17) ในทุก ๆ การวิเคราะห์ย่อยของการศึกษา ส่วนความดันโลหิตลดลงเหมือนกับการศึกษา CPAP ก่อนหน้านี้
ส่วนการวิเคราะห์แบบ individual participant data ในกลุ่มที่ได้รับ CPAP พบว่า ถ้าผู้ป่วยใช้ CPAP อย่างสม่ำเสมอ จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตลดลงประมาณ 31% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ไม่สม่ำเสมอ และเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ เป็นจริงในทุกกลุ่มย่อยไม่ว่าจะอายุ หรือเพศ
ผู้ป่วย OSA ที่ต้องใช้ CPAP ควรใช้เครื่องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงจะช่วยลดโรคหัวใจลงได้ และคงต้องรักษาปัจจัยโรคหัวใจอื่นพร้อมกันไป เนื่องจากการใช้ CPAP เพียงอย่างเดียวอาจไม่มีน้ำหนักมากพอในการลดโรคหัวใจ และอัตราการเสียชีวิต
เรียบเรียงโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช
ข้อมูลจาก JAMA. 2023;330(13):1255–1265. doi:10.1001/jama.2023.17465