การวัดความดันโลหิตต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง สามารถใช้ในการวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย ได้อย่างแม่นยำ และน่าเชื่อถือ
ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงมักยึดถือตัวเลขความดันโลหิตที่วัดได้ที่โรงพยาบาลเป็นหลัก แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่ม ค่าที่วัดได้อาจไม่ตรงกับความดันโลหิตจริงของผู้ป่วย ทำให้การวินิจฉัยไม่ตรงตามภาวะจริงของผู้ป่วยได้ เช่น ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงที่โรงพยาบาล แต่วัดแล้วความดันโลหิตอยู่ในช่วงปกติเมื่ออยู่ที่บ้าน หรือที่เรียกว่า White coat hypertension หรือในทางกลับกัน ผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งก็มีภาวะความดันโลหิตสูงแอบซ่อนอยู่ (Masked hypertension) คือมีความดันโลหิตสูง แต่เมื่อมาวัดที่โรงพยาบาลกลับมีค่าปกติ การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงจำเป็นจะต้องใช้วิธีที่แตกต่างออกไปจากปกติ
จากการศึกษาที่ได้เผยแพร่ใน Journal of Hypertension เมื่อเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา ได้ทำการศึกษาการวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับการวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลและที่บ้าน โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 562 ราย พบว่าการวัดความดันโลหิตต่อเนื่อง 1 ชั่วโมงนั้นได้ผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับความดันโลหิตจริงของผู้ป่วย มีความแม่นยำสูงสุดถึง 72% ในการวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูง (95% CI: 67.7-76.3) สามารถใช้ได้ทั้งในผู้ป่วยที่มี White-coat hypertension และ masked hypertension โดยมีความไวในการวินิจฉัยอยู่ที่ 76.6% และมีความจำเพาะต่อโรคความดันโลหิตสูง 64.8% และการศึกษานี้แนะนำว่าหากใช้เกณฑ์การวินิจฉัยที่ความดันโลหิต 133/83 มิลลิเมตรปรอท ก็จะสามารถเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยได้อีก 2.3%
ฉะนั้น ในการวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูง อาจใช้เพียงการวัดความดันในโรงพยาบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มที่มี White-coat hypertension และ Masked hypertension ควรจะมีการวัดความดันที่บ้านเพื่อเปรียบเทียบ หรือสามารถใช้วิธีใหม่ ๆ อย่างการวัดเความดันโลหิตแบบต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง ด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติได้เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก
- https://specialty.mims.com/topic/1-hr-method-detects-hypertension-in-undiagnosed-patients
- https://journals.lww.com/jhypertension/Abstract/2022/03000/Validity_and_reliability_of_16.aspx