แพทย์ควรใช้ยา Hydroxychloroquine อย่างระมัดระวัง ในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยสูงอายุที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลว หรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ ในการศึกษาพบว่าการใช้ Hydroxychloroquine อาจเพิ่มความเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อเทียบกับการใช้ Methotrexate ในการรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
Hydroxychloroquine เป็นยาลำดับแรก (First-line drug) ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่มีข้อจำกัดของหลักฐานในเรื่องความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การใช้ยา Hydroxychloroquine ในการรักษาโรค COVID-19 ช่วงปี คศ. 2020 ทำให้มีการคำนึงถึงความปลอดภัยของยาต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการศึกษาถึงความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
การศึกษานี้เป็น cohort study ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และไม่เคยได้รับการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มาก่อนจำนวน 54,462 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับยา Hydroxychloroquine จำนวน 27,231 คน และอีกครึ่งที่เหลือได้รับยา Methotrexate ผลการศึกษาพบว่า Hydroxychloroquine ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการเสียชีวิตฉับพลัน (Sudden cardiac death) หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmia) และ MAZE เมื่อเทียบกับ Methotrexate แต่เมื่อดูลงไปในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคหัวใจล้มเหลว (Subgroup analysis) กลับพบว่า Hydroxychloroquine เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด MAZE อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular mortality) อัตราการเสียชีวิตโดยรวม (All-cause mortality) กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและการนอนโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อเทียบกับยา Methotrexate อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่ความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเหล่านี้จะไม่ต่างกันในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติโรคหัวใจล้มเหลว ยกเว้นแต่ความเสี่ยงในการมานอนโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจล้มเหลวซึ่งจะสูงกว่าในกลุ่มที่ได้ยา Hydroxychloroquine แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีประวัติโรคหัวใจล้มเหลวมาก่อนก็ตาม
การใช้ Hydroxychloroquine ส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ (Cardiotoxicity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลว อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มีข้อจำกัดตรงที่ระยะเวลาการติดตามผลค่อนข้างสั้นเพียง 209 วันเท่านั้น และยา methotrexate เองก็อาจมีฤทธิ์ในการปกป้องหัวใจ (Cardioprotective effect) ซึ่งทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างต่อหัวใจและหลอดเลือดได้มากขึ้น
- J Am Coll Cardiol. Published online June 27, 2022. https://doi.org/1016/j.jacc.2022.04.039